กองทัพอากาศ ทำพิธีปลดประจำการเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ ๑ (L-39ZA/ART) เครื่องบินฝึกขับไล่ไอพ่นแบบแรกของไทย หลังประจำการมาครบ 27 ปี รอรับเครื่องบินรุ่นใหม่ คาดเป็น เอที-6 เท็กซาน ทู
เมื่อวันที่ 31 มี.ค.64 พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีปลดประจำการเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ ๑ (L-39ZA/ART) พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพอากาศมาร่วมพิธีในวันนี้ โดยมี นาวาอากาศเอก ภูศิษฏ์ ทิมเกิด ผู้บังคับการกองบิน 41 และข้าราชการกองบิน 41 ให้การต้อนรับ ณ ท่าอากาศยานทหารกองบิน 41
โดยภายในพิธีปลดประจำการเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ ๑ (L-39ZA/ART) ได้จัดให้มีการแสดงทางภาคอากาศ (Fly by) และได้เรียนเชิญ พลอากาศเอก สุรศักดิ์ ทุ่งทอง, พลอากาศเอก วันชัย นุชเกษม และพลอากาศตรี สำราญ ชมโท ซึ่งเป็นนักบินรุ่นแรกที่เดินทางไปรับเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ ๑ (L-39ZA/ART) ของกองทัพอากาศ ณ สาธารณรัฐเช็กในสมัยนั้น มาร่วมพิธีปลดประจำการเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ ๑ (L-39ZA/ART) ในครั้งนี้ด้วย
...
ครั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2536 กองทัพอากาศ โดยพลอากาศเอก หม่อมราชวงศ์ ศิริพงษ์ ทองใหญ่ ผู้บัญชาการทหารอากาศในขณะนั้น ได้ดำเนินการจัดหาเครื่องบิน L-39 จากสาธารณรัฐเช็ก โดยให้มีภารกิจคือ ฝึกนักบินขับไล่/โจมตี, สนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด (Close Air Support) และค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ (CSAR) นั้น จึงได้ทำการส่งนักบินลองเครื่องต้นแบบและผู้เชี่ยวชาญไปศึกษาและปรับปรุงระบบต่างๆ ของเครื่องบิน L-39 จำนวน 4 คน คือ นาวาอากาศโท วรฉัตร ธารีฉัตร นักบินลองเครื่องต้นแบบ, นาวาอากาศตรี วัฒนชัย เจริญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระบบสรรพาวุธ และเรืออากาศโท จรัสพงษ์ ถวายทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญระบบสื่อสาร ได้ศึกษาและปรับปรุงเครื่องบินที่มีระบบแบบรัสเซีย ให้เป็นแบบโลกตะวันตกให้สมบูรณ์พร้อมใช้งาน เช่น ระบบห้ามล้อด้วยมือแบบเดิมซึ่งติดตั้งที่คันบังคับ ให้เป็นระบบห้ามล้อที่ใช้เท้า เหมือนที่เครื่องบินที่กองทัพอากาศใช้อยู่
พร้อมทั้งดัดแปลงให้สมบูรณ์แบบทั้งระบบอาวุธ ที่สามารถใช้อาวุธที่มีในคลังแสงของกองทัพอากาศ และระบบเครื่องช่วยเดินอากาศด้วยบริษัท ELBIT จากประเทศอิสราเอล จนนับได้ว่าเป็นเครื่องบินที่มีระบบที่ดีที่สุดของกองทัพอากาศไทยในตอนนั้น เครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ ๑ หรือ L-39 ได้ปฏิบัติการปกป้องน่านฟ้าไทย การฝึกร่วมกับมิตรประเทศ และการปฏิบัติภารกิจร่วมกับเหล่าทัพอื่น มาอย่างต่อเนื่องและยาวนานตลอดระยะเวลา 27 ปี
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ข้อมูลจากสไลด์ของ ผบ.ทอ.ในการประชุมสัมมนาด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการศึกษากองทัพอากาศ ประจำปี 2563 กองทัพอากาศได้มีแผนการ การจัดซื้อเครื่องบินโจมตีเบา รุ่น AT-6TH เท็กซาน ทู เข้ามาประจำการ โดยเครื่องบินรุ่นนี้แม้จะไม่ใช่เครื่องบินไอพ่น แต่ก็เป็นเครื่องบินเครื่องยนต์ใบพัดเทอร์โบที่มีความทันสมัย มีระบบอวิโอนิกส์ เครื่องช่วยเดินอากาศที่ไฮเทค เพื่อใช้เป็นเครื่องบินฝึกแทนจำนวน 12 เครื่อง งบประมาณราว 5 พันล้านบาท แต่เป็นการจัดซื้อผ่านระบบ P&D (purchase and development) ที่กองทัพอากาศจะมีส่วนร่วมในการผลิตสร้าง พัฒนา และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตเองในอนาคต รวมทั้งการประกอบการผลิตอะไหล่ในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป.