FTA Watch นำทีมถามรัฐบาลจะเดินหน้าเข้าเจรจา CPTPP เม.ย.นี้ ย้ำหลายประเด็นอ่อนไหว ผลกระทบรุนแรง สภาเภสัชกรรม ย้ำต้องทำกรอบเจรจาระบุประเด็นอ่อนไหว หากเจรจาไม่ได้ต้องไม่เข้าร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากสภาผู้แทนราษฎรออกรายงานผลการศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) พร้อมข้อเสนอแนะส่งให้กับรัฐบาล มีรายงานข่าวว่าในวันที่ 7 เม.ย.นี้ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน จะประเมินความพร้อมของไทยก่อนเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเจรจาเข้าร่วมปลายเดือน เม.ย.นั้น ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) พร้อมด้วยทีมวิชาการจึงแถลงข่าวถามถึงความพร้อมของประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เน้นว่าถ้าไม่พร้อมไม่ควรเจรจา รัฐบาลไม่มีงบประมาณปรับโครงสร้างเตรียมความพร้อมจะกระทบหนัก
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชี้ว่า ในการประชุมเตรียมการของหน่วยราชการและแบบฟอร์มเตรียมความพร้อมฯ โดยจัดกลุ่มเนื้อหาข้อบทเป็น 3 กลุ่มคือ สีเขียว ประเด็นที่ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ, สีเหลือง เป็นประเด็นที่ไม่มีในระบบปัจจุบัน มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจะต้องมีการสนับสนุนอย่างเพียงพอ ทั้งข้อมูล งบประมาณและเวลา, สีแดง ประเด็นที่ไม่มีในระบบปัจจุบัน หากมีการแก้ไขจะมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมีสำคัญ ซึ่งมีแรงกดดันให้ประเด็นต่างๆ ถูกจัดอยู่ในสีเขียวหรือเหลือง แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะลดความสำคัญของประเด็นอ่อนไหวซึ่งเป็นข้อถกเถียงอย่างมากในการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตลอด 120 วันก่อนสรุปเป็นรายงาน ซึ่งนัยสำคัญที่น่าเป็นห่วงของกระบวนการนี้ คือ การทำให้รายงานผลกระทบจาก CPTPP ของรัฐสภามีน้ำหนักน้อยลง โดยอ้างว่าหน่วยงานรัฐสามารถเตรียมความพร้อมและปรับตัว เพื่อที่รัฐบาลจะดำเนินการขอเข้าร่วมความตกลง CPTPP แต่ไม่มีคำมั่นสัญญาเรื่องงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิรูปเพื่อรองรับ
...
“แบบฟอร์มแผนเตรียมความพร้อมและการปรับตัวฯ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นเลขาฯ ของ กนศ. แจกให้หน่วยงานรัฐกรอก แม้จะเป็นสีเหลือง ฝ่ายนโยบายและสำนักงบประมาณก็ไม่สามารถให้คำมั่นสัญญาได้ว่าจะมีงบในการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมหรือไม่ ซึ่ง กมธ.ย้ำว่าต้องมีงบประมาณสนับสนุนในการปรับโครงสร้าง มิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบรุนแรง ทำให้มีความกังวลว่า กนศ. ไม่ได้นำข้อเสนอแนะจากรายงานของ กมธ.วิสามัญ CPTPP มาพิจารณาและปฏิบัติอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องกรอบการเจรจาที่รัฐบาลต้องระบุให้ชัดเจนว่ามีประเด็นอ่อนไหวอะไรบ้างที่ต้องเจรจาไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบให้ได้ ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน และถ้าเจรจาไม่ได้ ต้องหยุดการเจรจา จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการทำกรอบเจรจาที่สะท้อนประเด็นอ่อนไหวที่ว่า”
ทางด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า รายงานผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญฯ ชี้ว่า การเข้าร่วม CPTPP เกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง ถ้าไทยเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ทั้งจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตร และจากการลิดรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้าหลังจากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV ดังนั้นการเข้าร่วมในความตกลงดังกล่าวคือการเอาชีวิตของเกษตรกรรายย่อยไปแลกกับผลประโยชน์ที่บางภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์ ซึ่งเฉพาะผลกระทบในกรณีเรื่องพันธุ์พืชนั้นส่งผลกระทบในด้านต่างๆ มากถึง 7 ประเด็นสำคัญ ชี้ให้เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรพันธุกรรมของประเทศและการพัฒนาสายพันธุ์ของเกษตรกรและชุมชนอย่างร้ายแรงมากขนาดไหน นอกจากจะทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพงแล้ว จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนายาจากสมุนไพรด้วย หากรวมกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งกังวลกับกรณีอุปสรรคจากการพัฒนายาสมุนไพรแล้ว จะกลายเป็น 5 หน่วยงานที่เห็นว่าประเทศไทยขาดความพร้อมในการเข้าร่วมความตกลงนี้
ขณะที่ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch เผยว่า ทางสภาเภสัชกรรมทำข้อเสนอต่อ กนศ. แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมผลิตยาและการเข้าถึงยาในประเทศในปัจจุบัน พบว่าอุตสาหกรรมขนาดเล็ก พึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลัก ในปี 2562 มีบริษัทที่มีขนาดตลาด 1,000 ล้านขึ้นไป เพียงร้อยละ 17 หรือ 21 แห่ง จาก 123 แห่ง สัดส่วนการผลิตยาในประเทศเมื่อเทียบกับการนำเข้ายามีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากร้อยละ 69 ในปี 2530 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 29 ในปี 2562 อีกทั้งมีแนวโน้มนำยาเข้าสูงขึ้นทุกปี และการคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562-2590): ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่เพิ่มขึ้น มาจากราคายาสูงขึ้น ประเทศไทยพึ่งพิงยานำเข้าเพิ่มขึ้น โดยสรุปดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท
2. อัตราส่วนการพึ่งพิงนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก ปัจจุบันร้อยละ 71 เป็นร้อยละ 89
3. มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 100,000 ล้านบาท
“จะเห็นว่า การพึ่งพิงการนำเข้ายาที่สูงมาก ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์ดังกล่าวจึงจัดเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สภาเภสัชกรรม จึงเสนอความเห็นต่อ กนศ. ขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่ระบุว่า การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง”
นอกจากนี้ นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ร่วมกล่าวว่า ในประเด็นผลกระทบต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทางเครือข่ายฯ ยืนยันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เอาเข้าร่วมในการเจรจาความตกลง CPTPP เพราะมีแต่เสียกับเสีย และสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขที่มีข้อเสนอให้คงสีแดง ขอสงวนประเด็นมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้เป็นสินค้าควบคุม ทั้งสถานที่ดื่ม การส่งเสริมการขาย การโฆษณา เพื่อลดการเข้าถึงผู้บริโภคโดยง่าย และลดการสูญเสียจากผลกระทบต่างๆ ทางทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชน แต่ CPTPP มุ่งเปิดการแข่งขันทางการค้า บริการ การขนส่ง CSR การส่งเสริมการขาย การโฆษณา ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อมาตรการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศอย่างแน่นอน เพราะความตกลงใน CPTPP จะลดการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐลง แต่กลับเพิ่มอำนาจให้นักลงทุนมากขึ้นสามารถเข้ามาแทรกแซงมาตรการนโยบายของรัฐที่มีอยู่แล้วหรือที่จะมีมาตรการใหม่ๆ ในอนาคต ทำได้ยากหรือด้อยประสิทธิภาพลง รวมไปถึงเสี่ยงถูกฟ้องร้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกข้ามชาติที่มีอิทธิพลเหนือรัฐ และเราไม่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอ เสี่ยงที่จะจ่ายค่าโง่ซ้ำซากเหมือนที่ผ่านๆ มา เรื่องนี้ทางเครือข่ายฯ จับตาและพร้อมเคลื่อนไหวคัดค้านร่วมเครือข่ายประเด็นอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ถ้ารัฐบาลยังคงดึงดันจะขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP
รองประธาน FTA Watch ระบุเพิ่มเติมอีกว่า เพื่อไม่ให้ผิดคำพูดกับสาธารณชน รัฐบาลต้องทำตามคำแนะนำของสภาฯ คือ ทำกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะหลักในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ส่งถึงรัฐบาล ประกอบด้วย
1. ประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุน
2. รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งด้านบวก ภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาจากผลกระทบด้านลบ
3. การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมภาคีความตกลง
4. รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า