มวลชนหมู่บ้านทะลุฟ้าเคลื่อนไหวต่อ จัดกิจกรรมบนสกายวอล์กเอ็มบีเค เชิญชวนไปไล่บิ๊กตู่ที่ทำเนียบ บ่ายสองโมง วันที่ 30 มี.ค. ศาลเลื่อนนัด ตรวจหลักฐานคดี “ปักหมุด” เป็น 8 เม.ย. เผยเพนกวิน คอพับคออ่อนนั่งวีลแชร์มาศาลสายน้ำเกลือห้อย ระโยงระยาง ส่วนประเด็นอานนท์เขียนจดหมายร้องขอ ชีวิตจากเรือนจำ ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานเรือนจำใช้ความระมัดระวัง เพื่อให้ผู้ร้องกับพวกได้รับความคุ้มครองสิทธิที่กฎหมายรับรอง ศปปส.แจ้งเอาผิด ม.112 มายด์ปราศรัยจาบจ้วง ส่วน “อมรัตน์” เจอแจ้งจับหนุนม็อบ

จากเหตุชุมนุมทางการเมืองเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้ลาออก ปฏิรูปสถาบัน และแก้ไข ม.112 รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุม มีการชุมนุมทั้งเป็นไปอย่างสงบและปะทะกันหลายครั้ง ล่าสุดตำรวจเข้ากระชับพื้นที่สลายผู้ชุมนุมที่สร้างหมู่บ้านทะลุฟ้าและบ้านของกลุ่มผู้ชุมนุมภาคีเซฟบางกลอยที่ตั้งอยู่ซอยพระราม 5 เลียบคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้สะพานชมัยมรุเชฐข้างทำเนียบรัฐบาล พร้อมจับกุมผู้ชุมนุมไปควบคุมตัวดำเนินคดี 99 คน ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

...

ทำกิจกรรม “เด็กหลงทาง”

กลุ่มผู้ชุมนุมยังเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เมื่อเวลา 16.50 น. วันที่ 29 มี.ค. ที่สกายวอล์ก หน้าศูนย์การค้าเอ็มบีเค สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ กลุ่มเครือข่ายหมู่บ้านทะลุฟ้า นำโดยนายธัชพงศ์ แกดำ พร้อม กลุ่ม “UNME of Anachy” กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก รวมทั้ง เยาวชน นักเรียน นักศึกษาและกลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนกลุ่มราษฎร ทยอยมารวมตัวทำกิจกรรมชุมนุม “เด็กหลงทาง” เรียกร้องให้ปล่อยแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มราษฎร ที่ดำเนินคดี ม.112 และ กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมและจับกุมเมื่อวันที่ 28 มี.ค.64

เชิญชวนไปไล่บิ๊กตู่ที่ทำเนียบ

กิจกรรมการชุมนุมได้เริ่มขึ้นเวลา 17.00 น. มีการนำป้ายผ้าสีขาวขนาดใหญ่ ระบุข้อความด้วยตัวอักษรสีแดงและดำว่า #ปล่อยเพื่อนเรา มาวางบริเวณพื้น พร้อมกับมีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งปิดตาด้วยสีแดง สวมเสื้อยืดสีขาว เขียนข้อความเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเพื่อนผู้ร่วมชุมนุม และเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 ยืนถือกล่องใส่กระดาษให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและผู้ที่สนับสนุนกลุ่มราษฎรเขียนข้อความถึงเพื่อนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ในกระบวนการยุติธรรม สลับการปราศรัยโจมตีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเชิญชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุม ออกมาร่วมกิจกรรมตะโกนขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ เวลา 14.00 น. กับแสดงดนตรีของคณะราษดรัม กิจกรรมเป็นไปอย่างเรียบร้อยไม่มีเหตุวุ่นวาย โดย พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผกก.สน.ปทุมวัน ได้เข้าอ่านประกาศแจ้งกับผู้ชุมนุม ว่าห้ามจัดการการชุมนุม เพราะผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ขณะที่นายธัชพงศ์กล่าวเรียกร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้กลุ่มปกป้องสถาบันเข้ามาสร้างความวุ่นวายด้วย

ศาลนัดตรวจพยานคดีปักหมุด

ในส่วนของการจับกุมแกนนำคณะราษฎร และยังไม่ได้รับการพิจารณาประกันตัว ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา ศาลนัดตรวจหลักฐานคดีแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-สนามหลวง หรือคดี “ปักหมุด” เป็นคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชีวารักษ์ นายอานนท์ นำภา นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือแบ็งค์ หมอลำซิ่ง นายสมยศ พฤษาเกษมสุข น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นายอรรถพล หรือครูใหญ่ บัวพัฒน์ นายชินวัตร หรือไบร์ท จันทร์กระจ่าง นายไชยอมร หรือแอมมี่ แก้ววิบูลย์พันธุ์ นายชูเกียรติ หรือจัสตินไทย แสงวงศ์ กับพวกรวม 22 คน เป็นจำเลยในข้อหาแตกต่างกันเช่น ป.อาญา ฐานอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มาตรา 112, ม.116 พ.ร.บ.โบราณสถาน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเรื่องการควบคุมโรค ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดแต่เหตุการณ์ทั่วไปสงบ

กวิ้นนั่งวีลแชร์ห้อยน้ำเกลือ

มีรายงานว่า ในส่วนนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎร มาศาลในสภาพคอพับนั่งรถวีลแชร์ มีสายน้ำเกลือมีเจ้าหน้าที่พยาบาลดูแล โดยมารดาเข้าไปสวมกอดจับมือ และ น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง เข้าไปพูดคุย มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประกบ ส่วนนายสมยศ พฤษาเกษมสุข ขอแถลงศาลว่าถูกควบคุมเสมือนถูกตัดสินไปแล้ว ไม่อยากเห็นใครต้องบาดเจ็บหรือล้มป่วย เพื่อไม่ต้องให้กระบวนการยุติธรรมหม่นหมอง ให้ศาลประหารชีวิตตนเสีย ศาลแจ้งว่าจะบันทึกไว้ให้เฉพาะที่เกี่ยวกับประเด็น และขอให้นายสมยศสู้คดี ศาลจะให้ความยุติธรรมเต็มที่

ทนายยื่นคำร้องขอเลื่อนตรวจ

ส่วนทนายความอื่นแถลงว่า การต่อสู้คดีจำเป็นต้องให้จำเลยเปิดวิดีโอภาพเหตุการณ์ม็อบโดยเปิดในเรือนจำ แต่ราชทัณฑ์ไม่อนุญาต ศาลแจ้งว่าระเบียบของราชทัณฑ์ ศาลไม่อาจมีคำสั่งได้ ทนายบางคนแถลงว่า อัยการโจทก์ยื่นคำร้องคำแถลงขึ้นมาอีกฉบับ ทนายจำเลยไม่สามารถตรวจสอบเพื่อไม่ให้เป็นการจู่โจมทางพยานหลักฐาน ขอให้เลื่อนการพิจารณาตรวจพยานหลักฐานไปก่อน

ศาลพิจารณาให้เลื่อนไป 8 เม.ย.

หลังจากศาลอ่านและอธิบายฟ้องกับถามคำให้การจำเลย สำหรับจำเลยไปแล้ว จำเลยทุกคนปฏิเสธและมีทนายความแล้ว ศาลแจ้งให้คู่ความทุกฝ่ายทราบว่าเพื่อให้กระบวนพิจารณากระชับ ขอให้โจทก์รวบรวมพยานโจทก์เป็นกลุ่มๆพยานโจทก์มี 80 ปาก หากปากใดตัดได้ก็ตัด หากมีประเด็นที่รับกันก็รับ ศาลให้เลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อนเป็นวันที่ 8 เม.ย. จากนั้นศาลเรียก น.ส.ปนัสยา ไปซักถามเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในเรือนจำ อยู่พักใหญ่

ไม่ได้ประกันคืออุปสรรคสู้คดี

ก่อนการพิจารณา นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า วันนี้นัดตรวจพยานหลักฐาน ทีมทนายความได้เตรียมพยานหลักฐานไว้ส่วนหนึ่งเพื่อแสดงต่อศาล เช่น พยานบุคคล เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และนักวิชาการคดีนี้โจทก์มีพยานหลักฐานกว่า 200 ชิ้น เบื้องต้นทนายความได้ขอคัดไว้แล้วแต่ยังไม่ได้รับ กรณีนี้อาจจะมีผลต่อการหาพยานหลักฐานมาแก้ต่างในการต่อสู้คดีได้ เชื่อว่าการไม่ได้รับการประกันตัว ของจำเลยจะเป็นอุปสรรคในการต่อสู้คดี ส่วนอาการของนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ที่อดอาหารประท้วงในเรือนจำว่า ขณะนี้น่าเป็นห่วง ทีมแพทย์ได้ให้น้ำเกลือ ซึ่งจำเลยยินยอม

ขอแม่กวิ้นคุยลูกให้กินอาหาร

ด้านว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงการอดอาหารของนายพริษฐ์ แกนนำกลุ่มราษฎร ว่า ภาพรวมสุขภาพร่างกายยัง ปกติดี แต่มีอาการอ่อนเพลียจากการอดอาหารหลายวัน เพราะกินนมและเกลือแร่เท่านั้น แพทย์ได้ให้น้ำเกลือและเฝ้าระวังสุขภาพอย่างใกล้ชิด อยากขอความเห็นใจจากคุณแม่เพนกวิน ขอร้องให้ลูกกลับมาทานอาหาร เพราะกรมราชทัณฑ์ห่วงใยในเรื่องสุขภาพ ส่วนการต่อสู้ตามแนวทางนั้น ไม่ได้ห้าม ทำได้ตามสิทธิ หากคุณแม่เพนกวิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อยากเข้าเยี่ยมให้ติดต่อตนได้ทันที จะช่วยประสานดูแลให้ หรือคุณแม่อยากให้ช่วยในการดูแลทำหนังสือร้องขอให้นายพริษฐ์ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ เพื่อให้ใกล้ชิดหมอและดูแลได้ทันท่วงทีหากมีเรื่องฉุกเฉิน ทั้งนี้ การปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ ต่อผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่กรณีนายพริษฐ์ต้องติดตามเป็นพิเศษ เพราะเป็นคดีการเมืองที่ทุกคนให้ความสนใจ ส่วนกรณีขอประกันตัว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาล กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ต้องปฏิบัติตาม คำตัดสินศาลเท่านั้น

ศาลนัดฟังคำสั่ง จ.ม.อานนท์

มีรายงานว่า ในส่วนคดีที่นายอานนท์ นำภา กับพวก ร้องต่อศาลขอให้ออกคำสั่งใดๆเพื่อความปลอดภัยในเรือนจำ เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หลายคนเข้ามาในห้องขังเวลากลางดึกแล้วแยกพวกจำเลยออกจากผู้ต้องขังอื่นอ้างจะนำไปตรวจเชื้อโควิด เกรงจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต เหตุเกิดวันที่ 16 มี.ค. ศาลอาญามีคำสั่งในวันเดียวกันโดยเห็นว่า ผู้ร้องกับพวกอยู่ภายใต้การคุมขังของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์และศาล มีหน้าที่ดูแล ผู้ต้องขังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย หากศาลละทิ้งหน้าที่นี้ย่อมจะทำให้ขาดองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติธรรม

ไต่สวนเชื่อตรวจหาโควิดจริง

จากการไต่สวนประกอบการเปิดภาพเคลื่อนไหว จากกล้องวงจรปิดบริเวณห้องขังได้ความว่า ตั้งแต่เวลา 21.30-02.30 น. วันที่ 16 มี.ค. เจ้าพนักงานเรือนจำ เข้าพูดคุยกับผู้ร้องและพวกอยู่หลายครั้ง โดยมิได้มีท่าทีข่มขู่คุกคาม หรือใช้ความรุนแรง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ 5 คน ที่ไปพร้อมกับ นพ.วีระกิตต์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ล้วนแต่งกาย ด้วยเครื่องแบบบุคลากรทางการแพทย์และเป็นเพศหญิงถึง 4 คน มีการจัดเตรียมชุดเก็บสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกและชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล เชื่อว่าเป็นการดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด ต้องการแยกตัวจำเลยทั้ง 3 ไปคุมขังในสถานที่อื่น มิได้มีความมุ่งหมายที่จะข่มขู่คุกคามหรือทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย

แต่ต้องคุ้มครองจำเลยตาม รธน.

อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องกับพวกเป็นบุคคลที่ถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดีซึ่งถูกจำกัดเสรีภาพในร่างกายบางประการ วัตถุประสงค์เพียงเพื่อป้องกันมิให้ผู้ต้องขังหลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่ออันตรายประการอื่น แต่เป็นพลเมืองไทยต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เมื่อเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีมาตรการปิดโทรทัศน์ในช่วงเวลา 21.30 น. แสดงนัยว่าถึงช่วงเวลาในการพักผ่อนเรือนจำ ต้องยึดถือปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนที่ดำเนินมา จัดให้ผู้ต้องขังได้มีช่วงเวลาพักผ่อนที่เหมาะสมเพียงพอไม่ถูกล่วงละเมิดเกินสมควรผู้ร้องกับพวกในฐานะเป็นผู้ต้องขังคนหนึ่งย่อมต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับผู้ต้องขังอื่น การเข้าตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดก็ดีการเปลี่ยนสถานที่คุมขังของผู้ต้องขังก็ดี พึงกระทำในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม การดำเนินการใดๆ หลังช่วงระยะเวลาดังกล่าวกระทำได้ แต่เฉพาะปรากฏเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง

ไม่จำเป็นตรวจหาเชื้อเวลานั้น

เมื่อข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องกับพวกได้รับการคัดกรองโรคเบื้องต้นโดยตรวจวัดอุณหภูมิถึง 3 ครั้งจนผ่านเกณฑ์แล้วแม้จะถูกย้ายตัวมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค แต่เป็นการเคลื่อนย้ายนักโทษระหว่างเรือนจำกับเรือนจำซึ่งต่างล้วนแต่มีมาตรการคัดกรองในระดับสูง กรณียังไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรีบหรือเร่งด่วนถึงขนาดต้องตรวจหาเชื้อไวรัสให้แล้วเสร็จในคืนนั้น หากปล่อยให้ระยะเวลาผ่านพ้นไปอีก 3 ชั่วโมงจะถึงรุ่งเช้า เป็นช่วงเวลาปกติที่ดำเนินการได้โดยไม่กระทบต่อการพักผ่อนของผู้ต้องขัง การกระทำของเจ้าพนักงานเรือนจำ แม้จะไม่ถึงขนาดเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมาย แต่เป็นการกระทำโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องขังอย่างเหมาะสมบนสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชนและ อารยประเทศให้การรับรองและคุ้มครอง

ติงราชทัณฑ์ทำหน้าที่ระมัดระวัง

การตรวจร่างกายผู้ต้องขังหรือย้ายสถานที่คุมขัง หรือกระทำการใด กรมราชทัณฑ์ ต้องดำเนินการช่วงเวลาที่เหมาะสมควร เป็นไปตามระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตในฐานะผู้ต้องขัง ศาลเห็นว่า การดำเนินการของเจ้าพนักงานเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอัน กระทบต่อสิทธิของผู้ร้องกับพวกเท่าที่ควร และเห็นควรให้เจ้าพนักงานเรือนจำที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่โดยใช้ความระมัดระวังเพื่อให้ผู้ร้องกับพวกได้รับความคุ้มครองสิทธิที่กฎหมายรับรองด้วย หลังมีคำสั่ง นายอานนท์เดินมาห้อง 704 เพื่อฟังการพิจารณาคดีปักหมุดต่อไป

เอกสารไม่ครบยังไม่ยื่นประกัน

เวลา 18.00 น. นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเปิดเผยว่า วันนี้ในตอนแรกได้ยื่นประกันจำเลยทั้ง 7 ต่อศาลในช่วงเช้า แต่ต่อมาพบว่าเอกสารบางอย่างที่เกี่ยวกับตัวจำเลย เป็นเอกสารสำคัญยังไม่ครบเลยยื่นขอถอนคำร้องออกมาก่อน เมื่อรอเอกสารครบและจะยื่นประกันใหม่ภายใน 2 วัน ในส่วนของนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ที่ได้ยื่นประกันวันนี้เช่นเดียวกัน ในคดีเผาหน้าเรือนจำ ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าศาลอาญาเคยมีคำสั่งยกคำร้องมาเเล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ยกคำร้องขอประกันฟ้ามูเตลู

วันเดียวกัน ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี จ.ปทุมธานี ทนายความของนายพรหมศร หรือฟ้า วีระธรรมจารี แกนนำกลุ่มราษฎรมูเตลู ผู้ต้องหาคดีปราศรัยดูหมิ่นสถาบัน ร่วมกันชุมนุมที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อ วันที่ 14 มี.ค.64 ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยนายพรหมศรชั่วคราวอีกครั้ง พร้อมทั้งร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวด้วย ศาลพิเคราะห์คำร้องแล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีในชั้นสอบสวนและคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนแล้ว คดีพอวินิจฉัยได้ งดการไต่สวนตามคำขอของทนายความผู้ต้องหาโดยเหตุผลตามคำร้องของทนายความ ผู้ต้องหายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้หลังจากพนักงานสอบสวน สภ.ธัญบุรี ยื่นคำร้องฝากขังนายพรหมศร ผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 17 มี.ค. และทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แล้วเห็นว่า ผู้ต้องหา ปราศรัยดูหมิ่นเบื้องสูง นำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบัน ให้ยกคำร้อง

จ่อเรียกมายด์ผิดข้อหา 112

ส่วนคดีความกับแกนนำผู้ชุมนุม เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ สน.ลุมพินี นายจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว ตัวแทน กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) แจ้งความกับ ร.ต.ท.เมธาธาร สุขม่วง รอง สว.(สอบสวน) สน.ลุมพินี ให้เอาผิด น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ แกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย จากการปราศรัยที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. โดยนำคลิปวิดีโอคำถอดเทปการปราศรัยมามอบให้ นายจักรพงศ์กล่าวว่า ผู้ปราศรัยวันนั้นมีนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ และ น.ส.เบญจา อะปัญ แต่จะ เน้นเอาผิด น.ส.ภัสราวลี ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันทำร้ายจิตใจคนไทยที่จงรักภักดีต่อสถาบันทั้งประเทศ ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบหลักฐานของตำรวจจะมีผู้ใดกระทำผิดเข้าข่ายข้อหานี้อีกหรือไม่ ด้าน พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ลุมพินี กล่าวว่า ก่อน หน้านี้มีประชาชนมาแจ้งความให้ดำเนินคดีในความผิดตาม ม.112 ไว้แล้ว ที่ประชุมชุดสืบสวนสอบสวนพิจารณาประกอบข้อหาอื่นๆที่เตรียมแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ควบคุมโรค ไว้ก่อนหน้านี้ รวมสำนวนและออกหมายเรียกแกนนำผู้ชุมนุมกับแนวร่วมรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 8 เม.ย.

ฝากขังผู้ชุมนุมบ้านทะลุฟ้า

ที่ศาลแขวงดุสิต ถ.นครไชยศรี พ.ต.ท.อรรถวิท เรืองโภควิทย์ พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง นำตัว นายภานุพงศ์ พงษ์ธนู อายุ 21 ปี และพวกรวม 61 คน ขอผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.-3 เม.ย.64 พฤติการณ์สรุปคือ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.64 เวลา 13.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทะลุฟ้า V2 เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจัดตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าฯที่หน้าศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยกางเต็นท์ตั้งเวทีปราศรัย ใช้เครื่องขยายเสียงส่งเสียงดังและกีดขวางการจราจรบนพื้นผิวถนนพระราม 5 ต่อมาเช้าวันที่ 28 มี.ค. เวลาประมาณ 06.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้งได้ร่วมกับกองร้อย บก.อคฝ. เข้าจับกุมผู้ต้องหาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย แจ้ง 5 ข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้อง ชั้นสอบสวนทั้งหมดให้การปฏิเสธ ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนได้ขอคัดค้านการประกันตัวของผู้ต้องหาทั้งหมดจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เนื่องจากหากผู้ต้องหาทั้ง 61 คนได้รับการปล่อยชั่วคราว เกรงว่าผู้ต้องหาทั้ง 61 คนอาจจะก่อเหตุในลักษณะเดียวกันนี้อีก

ฝากขังชุด 2 ปิดสะพานชมัยมรุเชฐ

วันเดียวกัน ที่ศาลแขวงดุสิต ร.ต.ท.ปฏิภาณ อินเอี่ยม พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง นำตัวนายอมรินทร์ พิมลรัตน์ไพบูลย์ อายุ 25 ปี กับพวกรวม 32 คน ขอผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.-3 เม.ย.64 โดยพนักงานสอบสวนแจ้ง 5 ข้อกล่าวหา เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ต้องหาทะลุฟ้า V2 ทั้ง 61 คน พฤติการณ์กล่าวคือเมื่อเช้าวันที่ 28 มี.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ข้างศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ถนนพระราม 5 แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพฯ ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ต่อมาเย็นวันเดียวกัน กลุ่มมวลชนได้มารวมกลุ่มที่ข้างศาลกรมหลวงชุมพรฯ ปิดกั้นการจราจรบนสะพานชมัยมรุเชฐ พร้อมใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัย กระทั่งเวลา 18.30 น. พ.ต.อ.นิมิตร นูโพนทอง ผกก.สน.นางเลิ้ง ได้แจ้งประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกฎหมายก่อนจับกุม ชั้นสอบสวนทั้งหมดให้การปฏิเสธ

แจ้งดำเนินคดี 5 ข้อหา

สำหรับข้อหาที่แจ้งเอาผิดมีดังนี้ 1.ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้ร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย หรือมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 2.ร่วมกันกระทำหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อ อันตรายหรือแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ 3.ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกระทำด้วยประการใดๆในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 144 4.ร่วมกันตั้งวางหรือกองวัตถุใดๆบนพื้นถนน ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 5.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ล่าสุดศาลให้ประกันตัวทุกคน วงเงินคนละ 20,000 บาท

แจ้งจับเจ๊เจี๊ยบร่วมม็อบผิด ก.ม.

อีกด้านหนึ่ง ที่ สน.ชนะสงคราม เมื่อเวลา 11.00 น. นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นำเอกสารหลักฐานเข้าแจ้งความ ร.ต.อ.วราช บุญยืน รอง สว. (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม ให้ดำเนินคดีนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ในมาตรา 215, และความผิดตามมาตรา 91 กรณีร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง นายณฐพรกล่าวว่า การที่นางอมรัตน์เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการดูแลกฎหมาย ต้องเคารพต่อกฎหมาย แต่กลับล่วงละเมิดกฎหมายเอง หลังจากนี้ จะไปยื่นเรื่องที่ศาลยุติธรรม เพื่อเอาผิดด้านจริยธรรมด้วย นอกจากนี้ หากพบหลักฐานว่า ส.ส.พรรคก้าวไกลคนอื่นมีพฤติกรรมที่ผิดทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง จะดำเนินการเช่นเดียวกัน เบื้องต้นพนักงานสอบสวนรับแจ้งความไว้ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

“ศรี” เอาด้วย ยื่น ป.ป.ช.หวด

ไล่เลี่ยกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องเอาผิดนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรณีเข้าร่วมชุมนุมประท้วงกับกลุ่ม REDEM เมื่อ 20 มี.ค. ที่สนามหลวง นายศรีสุวรรณกล่าวว่า นางอมรัตน์เป็น ส.ส. แต่มาคลุกคลีร่วมชุมนุมกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งที่รู้ว่าเป็นการจัดการชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมาย ถือว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิดทั้งตามประมวลกฎหมายอาญา และจงใจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมถึงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง ขอให้ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย เพื่อดำเนินคดีต่อไป

“บิ๊กตู่” ฉุนไม่เข้าใจวิธีคิดสื่อ

เมื่อเวลา 11.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์หงุดหงิดถึงกระแสข่าวการสลายม็อบทะลุฟ้า เพราะต้องการจะถ่ายรูปหมู่ ครม.หน้าตึกไทยคู่ไทย ในวันที่ 30 มี.ค. ว่า คิดอย่างนี้ได้อย่างไร ไม่เข้าใจวิธีการคิดของสื่อ คิดอย่างนี้ไม่ได้ ที่ผ่านมา อดทนมาหลายอาทิตย์แล้ว แต่วันนี้มีปัญหาผลกระทบกับการจราจร ปัญหากับโรงเรียนที่มีร้องเรียนมา มี พ.ร.บ.การชุมนุมอยู่ และต้องดูกฎหมายอื่นประกอบด้วย ถ้าตนไม่ทำแล้วคนอื่นเดือดร้อนจะทำอย่างไร เตือนกันมาหลายครั้งแล้ว “แหมถามผมว่าเพราะต้องการจะถ่ายรูป มันคนละเรื่องกัน กรุณาไปชี้แจงให้เข้าใจด้วย ถามว่ากฎหมายว่าอย่างไรในการกระทำผิดและอย่าลืมว่ากฎหมายลูกมีบทบัญญัติไว้ชัดเจนว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง มีผลกระทบต่อบุคคลอื่นหรือไม่ ภาคธุรกิจเอกชนเดือดร้อนหรือเปล่า การจราจรติดขัดหรือไม่ การระบาดโควิด-19 จะเกิดขึ้นหรือเปล่า ทุกคนต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย การดำเนินคดีเป็นการพิจารณาผ่านกระบวนการยุติธรรม”

เมิน “จตุพร” ปลุกม็อบไล่ 4 เม.ย.

เมื่อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติหรือไม่ ระหว่างกรณี น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันจัดงาน “รัตนโกเซิร์ฟ” ใส่ชุดไทยไถสเกต ที่หลายคนนำไปเปรียบเทียบกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีกับหมู่บ้านทะลุฟ้า อ้าง พ.ร.บ.ควบคุมโรคกับผู้ชุมนุม พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่จะรับไปดูให้ ต้องดูพฤติกรรมด้วย เมื่อถามถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นัดชุมนุมไล่วันที่ 4 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า “สื่ออยากสนับสนุนเขาไหม คุณอยากให้บ้านเมืองเป็นแบบเดิมอีกไหม ถ้าคุณอยากให้บ้านเมืองเกิดอะไรขึ้นแบบเดิมก็ช่วยกันขยายให้เขาก็แล้วกัน ขอบคุณ สวัสดี” ก่อนเดินออกจากโพเดียมขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปด้วยอารมณ์หงุดหงิด