พล.อ.ประวิตร นั่งหัวโต๊ะนำถกกองทุนดีอีพัฒนาดิจิทัล 6 ด้าน โดยมี รมว.ดีอีเอสคนใหม่ร่วมด้วยเป็นงานแรก พร้อมมีมติทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญากรมสมเด็จพระเทพฯ

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดกองทุนดีอี) ครั้งที่ 1/2564 พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และผู้เกี่ยวข้อง ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมวันนี้ ให้ความเห็นชอบกรอบวงเงิน สำหรับสนับสนุนโครงการที่เข้าเกณฑ์ตามกรอบนโยบายการให้ทุนสนับสนุนประจำปี 2564 โดยการเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม ที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนดีอีปีนี้

ทั้งนี้ โครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนดีอีกำหนดกรอบนโยบายการให้ทุนไว้ 6 ด้าน ได้แก่ 1. Digital Manpower การศึกษากับคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวางแผนการจัดการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการกำหนดนโยบายพัฒนาบุคลากรของประเทศ 2. Digital Health Advanced eHealth ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลด้านสาธารณสุข ครอบคลุมการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์ การบริการสุขภาพ และให้คำปรึกษาในทุกกลุ่มคนอย่างทั่วถึง 3. Digital Agriculture เกษตรเชิงรุกด้วยนวัตกรรมดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเกษตรแบบเชิงรุก ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าและต่อยอดภาคเกษตร

4. Digital Technology เทคโนโลยีดิจิทัลในโลกอนาคต ส่งเสริมการนำอุปกรณ์และระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการเมือง ชุมชนและแก้ปัญหาสาธารณะ ตลอดจนยกระดับการบริหารจัดการในภาคต่างๆ 5. Digital Government & Infrastructure รัฐบาลดิจิทัล สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการออกแบบบริการภาครัฐ การบูรณาการและการทำงานร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ และ 6. Digital Agenda โครงการตามนโยบายเร่งด่วน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

...

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 26 (6) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 สำหรับขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย เพื่อการต่อยอดการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณตามที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาอนุมัติในการประชุมบอร์ดดีอี เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2564 สำหรับโครงการที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาสนับสนุนนั้น ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลักๆ ได้แก่ เป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ เป็นโครงการนำร่องที่มีความสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 และโครงการที่ขอรับการสนับสนุนต้องมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนดีอี

นอกจากนี้ ที่ประชุมวันนี้ ยังพิจารณาเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การจัดสรรประโยชน์และการรักษาสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนฯ ต่อไป

ด้าน นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า การประชุมวันนี้ คณะกรรมการฯ ยังมีการอนุมัติให้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการพัฒนาบทเรียนออนไลน์ และสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาบาลีในส่วนของกองทุนแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นหน่วยงานสนองพระราชดำริ.