พฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของผู้นำไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เอาสเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อฉีดใส่ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล เมื่อถูกถามเรื่องการปรับ ครม. และเอาหน้ากากอนามัยปิดจมูกปิดปากตัวเอง กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก โดยเฉพาะสื่อใหญ่ในอารยประเทศ อังกฤษ ยุโรป สหรัฐฯ สิงคโปร์ ซึ่งให้ความเคารพใน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” รวมทั้ง รัฐธรรมนูญ 2560 ก็บัญญัติไว้ใน มาตรา 4 ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” เป็นเรื่องที่ผู้นำไทยต้องระวัง ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศที่เจริญแล้ว คงไม่ขำแบบเมืองไทยแน่นอน

วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมเลยชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่อง “การใช้ชีวิตในอนาคตของคนไทย” เป็นผลงานวิจัยเรื่อง Future of Living อนาคตของการใช้ชีวิต ของ สถาบันมองอนาคตนวัตกรรม (Innovation Foresight Institute) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับ ฟิวเจอร์เทลส์แล็บ ของ MQDC เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์ในไทย

ภาพรวมมนุษย์โลกวันนี้ ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านวันละ 11.4 ชั่วโมง บ้านจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ผู้คนกว่า 43% คิดว่าเทคโนโลยีอัจฉริยะจำเป็นสำหรับที่อยู่อาศัย ช่วยให้พวกเขามีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น รวมทั้งอุปกรณ์อัจฉริยะอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมต่อพวกเขากับสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน ปัจจุบันมีอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะบนโลกมากกว่า 800 ล้านชิ้น กว่าครึ่งเป็นนาฬิกาอัจฉริยะที่ช่วยเหลือผู้สวมใส่ให้เข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเอง ทำให้ปัจจุบันมนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ย 72.2 ปี เพิ่มขึ้น 24 ปี จาก 70 ปีที่แล้ว แต่รายได้ เฉลี่ยคนไทยอยู่ที่ 280,000 บาทต่อปี จีดีพีโตเพียง 2.5% ต่อปี ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 8% ต่อปี ทำให้อนาคตคนไทยไม่สามารถถือครองทรัพย์สินที่ดินตนเองได้

...

งานวิจัยชิ้นนี้ค่อนข้างยาว แต่ได้สรุปออกมาเป็น 4 ฉากทัศน์ ดังนี้

ฉากทัศน์ที่ 1 ผู้คนทุกกลุ่มมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต สังคมมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม ผู้คนไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงหรือ ความกังวลต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เศรษฐกิจมีการกระจายรายได้ทั่วถึง คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงปัจจัยที่จำเป็นในการใช้ชีวิต กิจกรรมประจำวันถูกปรับให้เข้ากับวิถีดิจิทัล ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ

ฉากทัศน์ที่ 2 ผู้คนส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยสวัสดิการจากรัฐ โครงสร้างประชากรไม่สมดุลกับความสามารถทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ไม่ทั่วถึง รัฐจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการเครือข่ายดิจิทัล แต่ก็เป็นไปในลักษณะเน้นปริมาณให้ทั่วถึงแต่ไม่เน้นคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนได้ ผู้คนมีค่านิยมเลือกของถูกมากกว่าของดี

ฉากทัศน์ที่ 3 มือใครยาวสาวได้สาวเอา เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีระดับสูง แต่ต้องได้มาด้วยต้นทุนที่สูง ผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐาน และความสะดวกสบายจากอุปกรณ์ดิจิทัลอัจฉริยะต่างๆ จะต้องมีรายได้สูง ผู้คนมีความคิดว่าเงินคือพระเจ้า ผู้มีอิทธิพลชนชั้นแนวหน้าได้รับการยอมรับทางสังคมมากกว่าผู้มีรายได้น้อย

ฉากทัศน์ที่ 4 พลเมืองชั้นฐานล่างของพีระมิด สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่เทคโนโลยีอาจพัฒนาไปไกล แต่เป็นการพัฒนาเพื่อการค้า เข้าถึงได้ด้วยต้นทุนสูง ผู้คนต้องดิ้นรนด้วยตนเอง ความเป็นอยู่และที่อยู่อาศัยตอบความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่สามารถยกระดับชีวิตให้คนอื่นๆได้อย่างทั่วถึง คนส่วนใหญ่กลายเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ขาดความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง

นี่คือ 4 ฉากทัศน์ “ชีวิตคนไทยในอนาคตคน” จาก นักอนาคตศาสตร์ อนาคตคนไทยจะออกมาเป็นแบบไหน ก็อยู่ที่ “วิสัยทัศน์” และ “ความสามารถ” ของ “ผู้นำประเทศ” คนไทยก็พึงนำไปคิดพิจารณา เราต้องการอนาคตแบบไหน ผู้นำแบบไหน นักการเมืองแบบไหนที่จะทำให้คุณภาพชีวิตในอนาคตของเราดีขึ้น คำตอบก็อยู่ที่ตัวคุณเอง.

“ลม เปลี่ยนทิศ”