ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. จับมือกูรูโซเชียลถกประเด็น "คลับเฮาส์" แอปใหม่ยอดฮิต ชี้อาจเกิดภาวะโฟโม แนะใช้อย่างสร้างสรรค์
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.64 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ จัดงานเปิดอกถกทุกประเด็น "โซเชียลมีเดีย ดาบสองคม…ใช้อย่างไรให้งาน เงิน ชีวิต ดีขึ้น!?" ดึงกูรูโซเชียลมีเดียบิ๊กเนมร่วมทอล์กประเด็น "คลับเฮาส์" แพลตฟอร์มใหม่ยอดฮิต ทั้งนายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย นายสุรบถ หลีกภัย จาก วีอาร์โซ และนายฤทธิชัย วานิชย์หานนท์ หัวหน้าที่ปรึกษากลุ่มหน่วยงานภาครัฐ บริษัท ไลน์ ประเทศไทย จำกัด และดร.ศุภชัย สุขะนินทร์ ผู้ก่อตั้งหลักสูตรอัลตร้า อินฟลูเอนเซอร์ เห็นตรงกันทุกแพลตฟอร์มเหมือนดาบสองคม ต้องใช้อย่างสร้างสรรค์ รู้จักแบ่งเวลา
ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้งแบบออฟไลน์ ณ ร้านกาแฟ พรรคประชาธิปัตย์ และออนไลน์แบบอินเทรนด์ผ่านแพลตฟอร์มคลับเฮาส์ หวังชวนคนรุ่นใหม่ใช้โซเชียลมีเดียแบบมีสติ และห่างไกลภาวะโฟโม (FOMO: Fear of Missing Out) หรือโรคกลัวการตกเทรนด์ โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วย ส.ส.และผู้บริหารพรรค อาทิ นายธีระภัทร พริ้งศุลกะ ผศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย ร่วมงาน
...
นายปริญญ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเรามีสื่อโซเชียลมีเดียที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันเกิดขึ้นมากมาย ล่าสุดกับแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลาไม่นาน จนหลายฝ่ายกังวลใจว่าอาจกลายเป็นดาบ 2 คมได้ในอนาคตอันใกล้นี้ จึงเป็นที่มาของการหยิบยกประเด็น "โซเชียลมีเดีย ดาบสองคม…ใช้อย่างไรให้งาน เงิน ชีวิต ดีขึ้น!?" มาพูดคุยกับทีมผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำในวงการดิจิทัลไทย ผ่านแอปพลิเคชันคลับเฮาส์เป็นครั้งแรก เพื่อเปิดโอกาสให้คนหลากหลายกลุ่มได้มีส่วนร่วมกับงานมากยิ่งขึ้น
นายวรฉัตร กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้คลับเฮาส์เป็นที่นิยมได้อย่างรวดเร็ว คือความพิเศษในการเป็นพื้นที่สำหรับแบ่งปันมุมมองในเรื่องที่หลายคนมีความสนใจร่วมกันผ่านเสียง สามารถนำคนมีชื่อเสียงจากวงการต่าง ๆ มาร่วมพูดคุยในห้องเดียวกันได้ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหาฟังได้ทั่วไป เช่น การแบ่งปันแนวคิดทางธุรกิจ การทำงานของยูนิคอร์น ทัศนคติทางการเมือง เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นคอนเทนต์รูปแบบถ่ายทอดสด ที่ไม่สามารถรับฟังย้อนหลังได้ ทำให้ผู้ฟังตั้งตารอมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าในอนาคตมีจำนวนคนเล่นมากขึ้น ก็อาจให้บรรยากาศนี้เปลี่ยนไป
นายสุรบถ กล่าวว่า โลกโซเชียลมีเดียและคลับเฮาส์ เป็นดาบ 2 คม ที่หากใช้เป็น ใช้แบบพอดี ก็จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้กล้าแสดงออก กล้าคิด และกล้าพูดมากขึ้น แต่หากใช้มากไปก็จะทำให้เกิด "โรคโฟโม" หรือโรคกลัวการตกเทรนด์ได้ ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้คนเราไม่มีความสุข เพราะมัวแต่ไปให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกจนไม่มีเวลาอยู่กับตัวเอง แต่ทั้งนี้ไม่อยากให้อคติจนเกินไป เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็มักจะพาเราไปสู่อะไรที่ดีกว่าเสมอ
ขณะที่ นายฤทธิชัย กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดจากการเห็นจุดบกพร่องของเทคโนโลยีเดิมที่อาจไม่ตอบโจทย์ในบางเรื่อง ยิ่งในวันนี้ที่คนเราต้องใช้ชีวิตเร่งรีบ ยิ่งทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นมากโดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนต้องอยู่กับเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากตัวผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าระบบ ที่ต้องใช้แบบระมัดระวังและสร้างสรรค์
ด้าน ดร.ศุภชัย กล่าวว่า เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่เราต้องระวังคือผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างคลับเฮาส์เป็นแพลตฟอร์มที่มีแค่เสียงเท่านั้น ข้อควรระวังคือใคร ๆ ก็เป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้พูดคนใดจะเป็นกูรูที่แท้จริง ซึ่งอาจทำให้ผู้ฟังได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดได้ ดังนั้นก่อนที่จะฟังใครพูด ควรพยายามเช็คไปที่หลายแพลตฟอร์มที่ลิงค์กันอยู่ เพื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือของเขา ส่วนเรื่องการทำรายได้ในแอปนี้ ตอนนี้ยังทำไม่ได้โดยตรง แต่สามารถทำได้ในลักษณะของการพูดเพื่อขยายฐานลูกค้า และส่งต่อไปยังช่องทางการติดต่ออื่น โดยช่วงเวลายอดนิยม (Prime time) จะขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของผู้ติดตามของบุคคลนั้นๆ
เวทีเปิดอกถกทุกประเด็น จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันอังคาร ณ ร้านกาแฟ Blue cloud พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และเสนอประเด็นที่ตนสนใจอยากให้เป็นหัวข้อของงานครั้งถัดไป ได้ที่ไลน์ไอดี @prinnp.