การสรรหา คณะกรรมการ กสทช. ที่ถูกจับตามาตั้งแต่เริ่มขั้นตอน การออกระเบียบการสรรหา มาจนถึงการตั้งคณะกรรมการสรรหาและขั้นตอนการสรรหา ซึ่งเวลานี้อยู่ระหว่างการเสนอชื่อบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกจำนวน 14 คน (เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา)เพื่อส่งให้ วุฒิสภา เลือกเหลือเพียง 7 คน เท่านั้น (เมื่อวันที่ 28 ม.ค.) จากจำนวนผู้สมัครเข้ารับการสรรหาถึง 80 คน มากเป็นประวัติการณ์

ด้วยเหตุนี้กระมัง ช่วงนี้จึงมีข่าวการ ล้มกระบวนการสรรหา กสทช. อ้างไปถึง ระดับบิ๊กรัฐบาล เหตุผลก็คือ ผู้ที่ผ่านการสรรหารอบแรก มีคุณสมบัติต้องห้ามบางประการ เช่นมาตรา 7 ข. (12) ของ พ.ร.บ.กสทช. ระบุว่าเป็นหรือเคยเป็น กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนในบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นที่ประกอบธุรกิจด้่านกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุหรือกิจการโทรคมนาคม

แต่เผอิญว่า ร่าง พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับนี้ยังอยู่ในการพิจารณาวาระ 2 ของ กรรมาธิการในสภา เพราะฉะนั้นถ้าจะจัดการกับ การสรรหา กสทช.ชุดใหม่ ได้ก็คือ ต้องเร่งให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาโดยเร็วและถ่วงเวลาการพิจารณาของวุฒิสภาในการอนุมัติแต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ เอาไว้

ประเด็นนี้ ปรากฏว่า นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ ได้ยื่นหนังสือถึง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว. ถึงขบวนการที่จ้องจะล้มการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ เนื้อหาจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ พรเพชร ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า การสรรหา กสทช.รอบแรก เรียบร้อยไปแล้ว โดยคณะกรรมการสรรหาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิตัวแทนจากองค์กรอิสระและศาลยุติธรรมชั้นนำของประเทศ

ดังนั้น กระบวนการสรรหาจึงมีความโปร่งใส บริสุทธิ์และยุติธรรม หากปล่อยให้กระบวนการสรรหาล่าช้าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการสรรหา กสทช.เป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการกำกับดูแลและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมาก

...

ในยุค คสช. ได้มีการออกประกาศแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย มีการยุติและชะลอการสรรหา กสทช.ไปแล้วถึง 5 ครั้ง และ กสทช.ชุดปัจจุบันสิ้นสุดวาระตั้งแต่เดือน ต.ค.ปี 2560 แต่ต้องทำหน้าที่ต่อเนื่องจนกว่าจะมี กสทช.ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ได้มีการตัด กสทช.ด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์และวิศวกรรม ออกจาก พ.ร.บ.กสทช. และกำหนดให้มี กสทช. 7 ด้านคือ ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ ด้านกิจการโทรคมนาคม ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพประชาชน ด้านอื่นที่จะเป็นประโยชน์กับการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.จำนวน 2 คน

ทั้งหมดนี้ พอจะสรุปได้ว่ามีความผิดปกติมาโดยตลอดระยะเวลาที่มีการตั้ง กสทช.ชุดแรกเข้ามาดำเนินการ ส่วนการสรรหา กสทช. ชุดนี้ จะลงเอยอย่างไร ยังเป็นปริศนาที่ต้องหาคำตอบ เพราะมูลค่าของกิจการ กสทช.ที่มหาศาล และเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ใช่สมบัติผลัดกันชม.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th