มติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปรับปรุงระเบียบ กระทรวงมหาดไทย ให้คนได้รับเงินบำนาญพิเศษ ได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 120 วัน
วันที่ 5 ก.พ. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานประชุมร่วมกับ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน กรณีการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมีการร้องเรียนและผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า มีผู้สูงอายุได้รับความเดือดร้อนถูกเรียกเงินคืนจำนวนมาก จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหาทางออกร่วมกัน จากข้อมูลพบว่า ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ 2494 มีการระบุถึงเงินบำนาญพิเศษว่า เป็นเงินพิเศษที่รัฐมีเจตนารมณ์ให้กับข้าราชการที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง จนตนเองได้รับอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ พิการ หรือเสียชีวิต นอกเหนือจากเงินบำเหน็จบำนาญตามระบบปกติที่ได้รับ และหากเสียชีวิตก็จะตกทอดบุคคลในครอบครัว แบบนี้เงื่อนไขเงินบำนาญพิเศษ จึงถือเป็นเงินคนละก้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับเงินทั้ง 2 ก้อน
ดังนั้นในการประชุมวันนี้ ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงอาศัยมาตรา 33 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 มีข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2552 ให้คนที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย โดยให้ดำเนินการภายใน 120 วัน และกำหนดบทเฉพาะกาลให้ผู้ที่รับเงินไปแล้ว ถือเป็นการได้โดยสุจริต โดยนำคำพิพากษาศาลฎีกาหมายเลขคดีที่ 10850 มาเทียบเคียง ถือว่าเป็นลาภที่ไม่ควรได้ ก็ไม่ต้องไปเรียกเงินคืนจากบุคคลนั้นๆ
...
"ส่วนบุคคลที่นำเงินมาคืนภาครัฐแล้ว ก็ถือว่าได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะมาคืน ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เดือดร้อน หรือเป็นผู้มีรายได้น้อย จึงไม่ขอรับเงินก้อนนี้ แต่ทั้งนี้ เมื่อมีการแก้ไขระเบียบแล้ว หากบุคคลใดที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษอยู่แล้วเห็นว่า ตนเองมีสิทธิที่จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุด้วย ก็สามารถไปยื่นแสดงความจำนงได้" พล.อ.วิทวัส กล่าว...