หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป.ผุดไอเดีย ชวนคนรุ่นใหม่ ร่วมแบ่งปันแนวคิดและแสดงความคิดเห็น ในเวที "เปิดอกถกทุกประเด็น" พร้อมรับฟังมุมมองจากกูรูชั้นนำของทุกวงการ เกี่ยวกับประเด็นร้อนในสังคม ประเดิมครั้งแรกด้วยเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา และประเด็นร้อนระยะยาวอนาคตของอีคอมเมิร์ซ


เมื่อวันที่ 5 ก.พ.64 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เปิดอกถกทุกประเด็น เป็นการเปิดพื้นที่ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ ได้มาพูดคุยกันถึงเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนในสังคม และเรื่องระยะยาวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยความหมายของ "คนรุ่นใหม่" ไม่ได้จำกัดความที่อายุ แต่อยู่ที่หัวใจที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ พร้อมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ และลงมือทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม ซึ่งในครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างการเมืองและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา ที่เพิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองครั้งสำคัญ รวมถึงอนาคตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย จากมุมมองของกูรูในภาคเอกชนชั้นนำ ภายใต้แนวคิด การบริการสาธารณะที่ดีที่สุดต้องให้ภาคเอกชนที่มีความสามารถเป็นคนทำ เพราะภาครัฐไม่ได้รู้ทุกเรื่อง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพื้นที่นี้จะเป็นประโยชน์กับหลายท่าน

...

"สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนา คือ เราต้องทําตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วเสมอ ทำตัวเองให้กระหายที่จะเรียนรู้ในทุกวัน พื้นที่นี้จึงเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเสนอประเด็นที่ตนเองสนใจและแสดงความคิดเห็นกันได้อย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆ โดยผู้สนใจสามารถเข้าร่วมได้ทุกวันอังคาร เวลา 17.30 น. ณ พรรคประชาธิปัตย์ เพียงติดต่อผ่านไลน์ไอดี @prinnp"นายปริญญ์กล่าว


นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า การเปลี่ยนแปลงทางการปกครองของพม่า เกิดจากการที่พรรคการเมือง NLD ของออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ทำให้ฝ่ายความมั่นคง รู้สึกว่าไม่โปร่งใสเท่าที่ควร ได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบ และเลื่อนการประชุมสมัยสามัญออกไปก่อน แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล จึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ทำให้หลายคนเป็นห่วงเรื่องทิศทางการค้า การลงทุนในเมียนมา ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลักษณะนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของเมียนมา แต่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะไม่ถอยหลังกลับไปเหมือนช่วงปฏิวัติครั้งก่อน เพราะวันนี้เมียนมาเดินหน้าไปไกลแล้ว การค้า การลงทุน และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่างๆ เริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้น ทางด้านประชาชนก็ไม่ได้ต้องการกลับไปเป็นเหมือนอดีต รวมถึงฝ่ายความมั่นคงเองก็ไม่อยากโดนคว่ำบาตรจากนานาประเทศ ดังนั้นการค้า การลงทุนระหว่างไทย-เมียนมา ยังคงทำได้ แต่สิ่งที่ไทยทำได้วันนี้คือต้องใจเย็น และมองแต่ข้างหน้า คอยดูว่าเขาจะประกาศอะไรออกมา แล้วค่อยมาวิเคราะห์และเดินหน้าต่อ แม้เมียนมาจะเกิดการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ก็อย่าตื่นตระหนก เพราะเมื่อประเทศเหล่านั้นเลือกที่จะไม่เข้ามา ก็จะเป็นโอกาสเดินหน้าของประเทศไทย เพียงแต่ต้องมีแผนงานที่ชัดเจน

ส่วน นายณัฐวิณ พงษ์เภตรารัตน์ รองประธานสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา กล่าวว่า แม้ลักษณะประเทศจะใกล้เคียงกัน แต่เมียนมาเป็นประเทศที่ถูกปิดมานาน ทำให้แนวคิดต่างออกไป เราจะเอาสิ่งที่เราคิดหรือเห็นในเมืองไทย ไปตัดสินเขาไม่ได้ แน่นอนว่าเราไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นเรื่องภายใน แต่ละประเทศมีการบริหารจัดการที่ไม่เหมือนกัน สำหรับเรื่องเศรษฐกิจ ฝ่ายความมั่นคงของเมียนมาได้ปล่อยให้เดินหน้าต่อไปตามธรรมชาติ ไม่มีการบังคับให้ธุรกิจใดต้องปิด ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ไทยควรต้องคิดคือ ทำอย่างไรที่จะใช้โอกาสนี้มาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ เดิมทีชาติตะวันตกลงทุนในเมียนมาน้อยมากอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันเอง ตอนนี้เมื่อมีมาตรการบางอย่างออกมาจากชาติตะวันตก ก็จะทำให้ประโยชน์กลับมาอยู่ที่ไทย จีน และสิงคโปร์ เพราะมีชายแดนติดกัน และเมียนมายังต้องนำเขาสินค้าเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจระหว่างไทย-เมียนมา เดินต่อไปได้อย่างมั่นคง คือ การสนับสนุนให้การค้าชายแดนสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กูรูด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซของประเทศไทย ผู้ก่อตั้ง TARAD.com กล่าวว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศเติบโตมากในประเทศไทย เพราะมีทุนสนับสนุนในระบบเป็นจำนวนมาก ทำให้ในปัจจุบันมีอิทธิพลกับคนไทย จนสามารถควบคุมกำลังซื้อได้แล้ว ส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กในชุมชน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมค่อยๆ ถูกกลืนกิน และอาจจะหายไปใน 5 ปี รวมทั้งเงินไหลออกนอกประเทศ ถ้าอยากจะเดินหน้าต่อไปได้ ผู้ประกอบการธุรกิจไทยต้องกลับมาพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ การสร้างแบรนด์ให้แตกต่าง นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างประสิทธิภาพให้สินค้า การปรับความคิด มองตลาดออนไลน์มากขึ้น นำออนไลน์นำธุรกิจช่องทางอื่นๆ หากมีไอเดียน่าสนใจ อยากให้ลองแล้วเดินเข้าไปคุยกับหน่วยงานรัฐ แล้วจับมือทำด้วยกัน ไม่ต้องรอให้รัฐทำ.