พล.อ.มิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะปฏิวัติเมียนมา จะนำประเทศเมียนมาไปทางไหน หลังจากปฏิวัติยึดอำนาจจาก นางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี เช้าตรู่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ก่อนการเปิดประชุมสภานัดแรกไม่กี่ชั่วโมง ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา ที่ต้องการเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประชาคมโลกกดดันให้กองทัพเมียนมาคืนอำนาจ และขู่ว่าจะรื้อฟื้นกฎหมายควํ่าบาตรมาใช้กับเมียนมาอีกครั้ง
การยึดอำนาจของ กองทัพเมียนมา ครั้งนี้ เกิดจากการพ่ายแพ้อย่างยับเยินของ พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ที่กองทัพเมียนมาสนับสนุน ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพียง 71 ที่นั่งใน 3 สภา ขณะที่ พรรคเอ็นแอลดี ของ นางอองซาน ซูจี ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาถึง 897 ที่นั่งใน 3 สภา เป็นการพ่ายแพ้ครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญ 2551 ที่ร่างโดยกองทัพเมียนมา
หลังการยึดอำนาจไม่กี่ชั่วโมง กองทัพเมียนมาได้ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ หลังจากที่บริหารประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉินผ่านไปแล้ว 1 ปี “เราจะทำให้เกิดประชาธิปไตยแบบ “พหุพรรค” อย่างแท้จริงด้วยความสมดุล และเป็นธรรม และจะมีการถ่ายโอนอำนาจสู่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้งที่เป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม และสถานการณ์ฉุกเฉินได้สิ้นสุดลงแล้ว”
ผมอ่านแล้วก็อดขำไม่ได้ กองทัพเมียนมาระบุว่า “ต้องการประชาธิปไตยแบบพหุพรรค” แปลไทยก็คือ รัฐบาลแบบผสม อย่างที่เขียนไว้ใน รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ ร่างโดย คสช. นั่นเอง
...
กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่กำลังจะเกษียณในเดือนกรกฎาคมนี้ คงได้เห็นตัวอย่าง รัฐธรรมนูญ 2560 ของไทย ที่เปิดโอกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. ได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่ง พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เคยพูดไว้ว่าเกษียณแล้วจะลงเล่นการเมือง แต่พรรคการเมืองที่กองทัพสนับสนุนกลับพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างยับเยิน เขาจึงมองหารูปแบบการเมืองใหม่ แล้วก็คงจะลงล็อกที่ รัฐธรรมนูญ 2560 ของไทย ที่ออกแบบให้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องเป็น รัฐบาลผสม หรือ รัฐบาลพหุพรรค ตลอดไป ไม่มีพรรคไหนมีอำนาจเด็ดขาด ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ควบคุมได้ง่าย ด้วยผลประโยชน์การเมืองและอื่นๆ การครองอำนาจหลังเกษียณก็จะสะดวกโยธินไปอีกนานแสนนาน
ความจริง รัฐธรรมนูญเมียนมา ที่ร่างโดยกองทัพเมียนมาในปี 2551 ก็ถือว่าเขียนคุมอำนาจไว้อย่างรัดกุมแล้ว กำหนดให้ที่นั่งในสภา 25% หรือ 1 ใน 4 ของสมาชิกรัฐสภา มาจากการแต่งตั้งของกองทัพ กำหนดให้ตำแหน่ง รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีชายแดน เป็นโควตาของกองทัพ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมียนมาทำได้ยากมาก ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากฝ่ายทหารเท่านั้น อ่านแล้วคล้ายๆกับรัฐธรรมนูญแถวนี้เลย
แต่ไม่ว่าจะเขียนไว้รัดกุมแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับเสียงอันบริสุทธิ์ของประชาชน การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญทหารครั้งแรก พรรคเอ็นแอลดี ของ นางอองซาน ซูจี ก็ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่รัฐธรรมนูญห้ามผู้มีสามีต่างชาติเป็นผู้นำ นางซูจี จึงไม่ได้เป็นประธานาธิบดีเมียนมา เป็นได้แค่ “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” ผ่านไป 4 ปี การเลือกตั้งครั้งที่สอง 8 พฤศจิกายน 63 พรรคนางซูจีชนะถล่มทลายอีกครั้ง แต่ครั้งนี้กวาดคะแนนไปถึง 83% กองทัพเลยปฏิวัติดีกว่า แต่จะหยุดอำนาจประชาชนไว้ได้นานแค่ไหน ต้องจับตาดูกันต่อไป โลกวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว.
“ลม เปลี่ยนทิศ”