ที่ประชุม ครม. เห็นชอบปฏิรูปกฎหมาย เปลี่ยนโทษอาญาความผิดเล็กน้อย เป็น "โทษปรับเป็นพินัย" ให้คุกมีไว้ขังคนทำผิดร้ายแรงเท่านั้น

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 ที่ผ่าน เห็นชอบปฏิรูปกฎหมาย เปลี่ยนโทษอาญาความผิดเล็กน้อย เป็น “โทษปรับเป็นพินัย” ให้คุกมีไว้ขังคนทำผิดร้ายแรงเท่านั้น โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ มาตรา 77 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง และตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย รัฐบาลต้องจัดทำกฎหมายเปลี่ยนแปลงโทษอาญาที่สามารถเปรียบเทียบเพื่อให้คดียุติได้ให้เป็นโทษปรับทางปกครอง

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าว ครม. ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการพิจารณาและกำหนดมาตรการสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ซึ่งเรียกมาตรการใหม่นี้ว่า “การปรับเป็นพินัย” ซึ่งผู้กระทำความผิดต้องชำระเงินค่าปรับตามที่กำหนด และการปรับนั้นไม่ใช่เป็นโทษปรับทางอาญา รวมทั้งจะไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนการปรับ ไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรม ตัวอย่างความผิดเล็กน้อยที่เป็นโทษอาญา เช่น ไม่แสดงใบขับขี่ (ปรับไม่เกิน 1,000 บาท) สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ (ปรับไม่เกิน 2,000 บาท) จอดรถขายผลไม้ริมถนนสาธารณะ (ปรับไม่เกิน 2,000 บาท) เป็นต้น

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้

1. กำหนดให้มี “โทษปรับเป็นพินัย” เป็นโทษอีกประเภทหนึ่ง แยกจากโทษอาญาและโทษปกครอง เพื่อใช้เป็นกฎหมายกลาง

2. มุ่งหมายให้ใช้โทษปรับเป็นพินัยแก่การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในกรณีที่ไม่ร้ายแรง แทนการกำหนดให้เป็นโทษอาญา

...

3. เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้มีอำนาจสั่งปรับ โดยสามารถกำหนดจำนวนค่าปรับตามความรุนแรงของผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิด พฤติกรรม และสภาพแวดล้อมทั้งปวง หรือจะกำหนดให้ทำงานบริการสังคมแทนก็ได้

4.ถ้าผู้ถูกปรับเป็นพินัยชำระค่าปรับเป็นพินัยเข้าหลวงแล้ว เป็นอันยุติจบเรื่อง ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับ ไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรม และสามารถจ่ายค่าปรับทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

5. ถ้าผู้ถูกปรับคัดค้าน หรือไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนด เจ้าหน้าที่ต้องส่งเรื่องและสำนวนให้อัยการดำเนินการฟ้องศาลจังหวัด

6. ให้เปลี่ยนความผิดที่มีโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายต่างๆ เป็นความผิดทางพินัย เว้นแต่การปรับทางปกครองที่เป็นมาตรการบังคับทางปกครอง และโทษปรับทางปกครอง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

7. ให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 จำนวน 183 ฉบับ เป็นโทษปรับเป็นพินัยภายใน 365 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

8. สำหรับความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามบัญชี 2 จำนวน 30 ฉบับ จะตราพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนให้เป็นโทษปรับเป็นพินัยก็ได้ แต่ต้องเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาก่อนไม่น้อยกว่า 30 วัน

9. เมื่อพ้น 360 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ให้เปลี่ยนอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฉพาะในการกำหนดโทษปรับอาญาในข้อบัญญัติท้องถิ่นเป็นปรับเป็นพินัย

ทั้งนี้ ในลำดับต่อไปจะส่งร่างพระราชบัญญัติให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป 

ส่วนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้คือ

1. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยใช้ความผิดอาญาเฉพาะการกระทำความผิดที่ร้ายแรงเท่านั้น เพื่อป้องกันการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินควร

2. สร้างความเป็นธรรมในสังคมและลดการทุจริต โดยเปลี่ยนความผิดร้ายแรงเป็นโทษปรับทางพินัย ซึ่งจะมีกฎหมายอย่างน้อย 183 ฉบับ ที่ถูกเปลี่ยนเป็นโทษทางพินัย

3.ไม่มีการกักขังแทนค่าปรับ ไม่ต้องประกันตัว และไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรม