สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งเดินหน้าสรุปผลศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ขีดเส้นแล้วเสร็จภายใน ก.พ.นี้ พร้อมดันเป็นทางเลือกบริหารจัดการ ปัญหาวิกฤติลุ่มน้ำมูลทั้งระบบ หวังช่วยคนอีสาน 10 จ.พ้นวิกฤติ ท่วมซ้ำซากในอดีต

วันที่ 24 ม.ค. ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าว “SEA ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำมูลอย่างยั่งยืน” ว่า ปัจจุบันลุ่มน้ำมูลครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 44 ล้านไร่ มีพื้นที่ป่าไม้เหลือเพียง 5.5 ล้านไร่ หรือร้อยละ 12 ของพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำ พื้นที่การเกษตรประมาณ 33 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 74 ปัจจุบันพื้นที่เกษตรได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานแล้วเพียง 2 ล้านไร่หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ที่เหลืออีกกว่า 31 ล้านไร่หรือร้อยละ 94 เป็นพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาน้ำฝน ขณะที่มีปริมาณฝนรายปี เฉลี่ย 85,089 ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำท่าในลำน้ำเฉลี่ยปีละ 13,410 ล้านลบ.ม. ส่วนความต้องการน้ำทุกภาคส่วนมีถึง 10,155 ล้านลบ.ม. แต่ความสามารถในการเก็บกักน้ำมีเพียง 5,350 ล้านลบ.ม. ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 40 % ของความต้องการใช้น้ำทั้งหมด จึงส่งผลให้ลุ่มน้ำมูลประสบปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอด ทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร

...

ซึ่งพบว่าแต่ละปีมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำกว่า 12.4 ล้านไร่ ปัญหาน้ำท่วมที่เคยท่วมสูงสุด 3.7 ล้านไร่ (ปี 2553) รวมถึงปัญหาคุณภาพน้ำที่เกิดจากการปล่อยน้ำทิ้งของชุมชน การเลี้ยงปลาในกระชัง นอกจากนี้ยังมีสภาพดินตื้น ดินเค็ม น้ำเค็ม-น้ำกร่อย ป่าไม้เสื่อมโทรม พื้นที่ป่าต้นน้ำลดลง เป็นต้น ดังนั้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาข้างต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของพื้นที่ลุ่มน้ำมูล โดยใช้กลไกแนวใหม่ที่เรียกว่า การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) ซึ่ง สทนช. นำมาใช้ในการศึกษาเพื่อประเมินศักยภาพและข้อจํากัดของสิ่งแวดล้อม ทิศทางในการพัฒนาลุ่มน้ำ รวมถึงเปรียบเทียบทางเลือกในการพัฒนาเพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบ และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบในการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ

สำหรับขอบเขตพื้นที่ศึกษาครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 1,282 ตำบล 151 อำเภอ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี จากผลการศึกษาเบื้องต้นได้นำเสนอทางเลือก อาทิ การพัฒนาพื้นที่เกษตรเป็นแหล่งเก็บกักน้ำชั่วคราว การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การเชื่อมโยงแหล่งน้ำขนาดเล็กเข้าด้วยกัน การเก็บกักน้ำส่วนเกินในฤดูฝนเพื่อใช้ในฤดูแล้ง แนวทางพัฒนาหาน้ำต้นทุนจากแหล่งที่มีน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ การผันน้ำจากพื้นที่ข้างเคียง การสนับสนุนการวิจัยการลดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ การจัดทำโครงสร้างใต้ดินเพื่อจัดเก็บน้ำส่วนเกิน (บ่อกักเก็บน้ำฝนใต้ดิน) และระบบเครือข่ายเชื่อมโยงสถานีตรวจสอบคุณภาพน้ำอัตโนมัติเพื่อติดตามและตรวจสอบคุณภาพน้ำ (Real time) เป็นต้น

โดยผลการศึกษาใกล้จะแล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ เพื่อนำไปสู่การประเมินทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และสรุปผลการศึกษา SEA ให้กับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580 ) และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)

“ในกระบวนการ SEA สทนช.เน้นย้ำให้เกิดการมีส่วนร่วม ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ แนวทางการแก้ไข และทางเลือกของแผนงาน โดยมีการประชุมแบบเวทีย่อย ประชุมกลุ่มย่อย การสำรวจเศรษฐกิจสังคมในเชิงพื้นที่ รวมทั้งการจัดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการลุ่มน้ำประกอบด้วย เพื่อให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาแผนงานให้เหมาะสมกับการพัฒนาในพื้นที่ของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน” ดร.สมเกียรติ กล่าว.