“อนุชา” แง้ม มีลุ้น “คนละครึ่งเฟส 3” โยนคลังพิจารณา เผย รัฐบาลเตรียมคลอดมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ลั่น ไร้การเมืองแทรกจัดซื้อวัคซีน ย้ำ “บิ๊กตู่” ตั้งใจจริงบริหารแผ่นดินอย่างโปร่งใส

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 20 ม.ค. 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงเรื่องมาตรการเยียวยา วัคซีนโควิด-19 การทำงานของรัฐบาล รวมถึงเรื่องการปลดล็อกสถานประกอบการต่างๆ และมาตรการการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยชี้แจงไว้ดังนี้

มาตรการเยียวยา

ภายหลังรัฐบาลออกโครงการ “เราชนะ” รวม 7,000 บาท เพื่อเยียวยาประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยมีการนำประชากร 66 ล้านคนเป็นที่ตั้ง ซึ่งทุกคนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ไม่สามารถเยียวยาได้ครบทั้งหมดในเวลาเดียวกัน ซึ่งแต่ละมาตรการจะมีออกมาช่วยเหลือในแต่ละกลุ่มอยู่แล้ว พร้อมยกตัวอย่าง กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สำนักงานประกันสังคมก็มีมาตรการช่วยเหลือออกมาก่อนแล้ว คือ ลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ส่วนคนที่ถูกเลิกจ้างเหตุผู้ประกอบการปิดตัวลงจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ขอความช่วยเหลือกรณีตกงานได้ ซึ่งเงินที่ได้รับในส่วนนี้มากกว่าเงินเยียวยาที่รัฐบาลให้ ซึ่ง 31.1 ล้านสิทธิ์ในโครงการเราชนะ ผ่านการตรวจสอบและกลั่นกรองจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และกระทรวงการคลัง

สาเหตุที่ไม่ให้เงินสด

นายอนุชา ระบุต่อไปว่า ในส่วนของเงินงบประมาณปี 2564 หรืองบเงินกู้ตาม พ.ร.ก. จากเดิมมีอยู่ประมาณ 600,000 ล้านบาท ต้องใช้อย่างเหมาะสมอย่างที่ทุกคนคาดหวังไว โดยโครงการเราชนะต้องใช้จ่ายประมาณ 210,200 ล้านบาท ต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และถือเป็นการเยียวยาไปพร้อมๆ กับมาตรการการฟื้นฟูเศรษฐกิจบางส่วน เงินที่จะให้ประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อจะได้ไปจับจ่ายใช้สอยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอิสระ หาบเร่แผงลอย ตลาดสด เป็นต้น เราคาดหวังว่ากราฟผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะไม่สูงไปกว่านี้ เราสามารถกดตัวเลขลงมาได้ และมาตรการอื่นๆ จะตามมาตามวงเงินกู้ที่มีอยู่ รวมถึงงบกลางฉุกเฉินในปี 2564

...

“ไม่ใช่มาตรการสุดท้าย เป็นมาตรการที่จะเริ่ม และภายในเดือนนี้จะมีการพิจารณาเพิ่มเติม เรื่องสถานการณ์การติดเชื้อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อสถานการณ์เป็นไปด้วยดี ภายในเดือน ม.ค. ก็จะมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจจะเป็นไปได้ที่กระทรวงการคลัง อาจจะเสนอคนละครึ่งเฟส 3 เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถลงทะเบียนเพิ่มเติม หลังจาก 1.34 ล้านสิทธิ์ ลงทะเบียนเสร็จสิ้นไปแล้วเช้านี้ จากนี้ไปนอกเหนือจากเยียวยาก็จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนต่างๆ และในส่วนของผู้ประกอบการ ทางด้าน ธปท. ก็มีการพูดคุยกับทุกหน่วยงาน รวมถึงกระทรวงการคลัง ที่จะมีซอฟต์โลน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว และให้กับพี่น้องประชาชนด้วย ผ่านธนาคารของรัฐและธนาคารพาณิชย์ รวมถึงการค้ำประกันเงินกู้ด้วย”

การปลดล็อก

ในส่วนของการปลดล็อกก็ต้องสอดคล้องกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ หลังจากนี้ ศบค. รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะมีการประชุมและประเมินว่าจะต้องมีการปลดล็อกอย่างไรบ้าง เพราะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากหลากหลายอาชีพเข้ามาแสดงความเดือดร้อนอยากให้รัฐบาลปลดล็อกให้เร็วที่สุด ซึ่งรัฐบาลรับทราบปัญหา และพยายามที่บริหารความสมดุล ทั้งในส่วนของสาธารณสุขและเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน

วัคซีนโควิด-19

สำหรับเรื่องการจัดการวัคซีนโควิด-19 รัฐบาลดำเนินการด้วยความรอบคอบ ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ทุกอย่างเป็นไปตามการพิจารณาของคณะกรรมการ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิสาธารณสุข แพทย์ ที่มีความรู้ความชำนาญเรื่องวัคซีน ผ่านคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และการจองซื้อวัคซีนมีวิจัยและพัฒนาเป็นไปด้วยความถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์สากล และน่าเชื่อถือได้ พร้อมทำสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิต คนไทยต้องใช้ประมาณ 130 กว่าล้านโดส 66 ล้านคน ณ ปัจจุบันบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับเลือกจากแอสตราเซเนกาให้เป็นผู้ผลิต เพราะมีความเหมาะสมในการที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี และจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจนทำได้ถึง 200 ล้านโดสต่อปี โดยขณะนี้มีการจองซื้ออย่างน้อยเกือบ 70 ล้านโดส จะเพียงพอประชากรราว 35 ล้านคน เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้แต่ต้นต้องให้ได้ 50% ของประชากร

“เรื่องความเร็วในการที่จะนำวัคซีนมาฉีดให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย พร้อมกับต้องมีความมั่นใจว่าวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ และไม่เกิดผลข้างเคียงอันจะทำให้เกิดอันตรายกับประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งแพทย์สาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนก็มีการให้ความเห็น เพราะฉะนั้นขอให้เข้าใจและมั่นใจว่ารัฐบาลไม่มีทางที่จะนำเรื่องการเมืองเข้ามาเสี่ยงกับสาธาณสุข และถ้าในอดีตเรานำเรื่องการเมืองเข้ามา ประเทศไทยคงจะไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ขอทำความเข้าใจ และให้มั่นใจสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลทำอยู่ในปัจจุบัน”

ความคืบหน้าการทำงานของรัฐบาล

ในช่วงนี้รัฐบาลเตรียมตัวที่จะคลอดมาตรการต่างๆ จากนี้ไปคงจะเป็นเรื่องมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งได้มอบหมายกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ ไปดูงบประมาณที่จัดทำอยู่ในปีงบประมาณ 65 ให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะต้องดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การดูแลความเป็นอยู่พี่น้องประชาชนทุกคนให้ผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ตลอดปี 2564 ถึง 2565 อย่างต่อเนื่อง หน้าที่ของรัฐบาลในปัจจุบัน นอกจากการดูแลสุขภาพ อนามัยของประชาชน ยังต้องดูแลเรื่องเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับโลกด้วย

ขณะที่เรื่องของการปฏิรูป การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังดำเนินการอยู่ในรัฐสภา ก่อนที่จะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 16-19 ก.พ. 2564 ซึ่งเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะได้ชี้แจงและตอบข้อสงสัย แต่ยังไม่ทราบว่าประเด็นใดที่จะโดนอภิปรายบ้าง มั่นใจว่าสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการมา การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความโปร่งใส และมีความตั้งใจจริงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ เรื่องกฎหมายประชามติรัฐสภาก็กำลังพิจารณาเพิ่มเติม รวมถึงการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป เช่น วันนี้ ครม. เห็นชอบเสนอ พ.ร.บ.เกี่ยวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ความมั่นใจของประชาชนในเรื่องปฏิรูปตำรวจดำเนินการได้โดยเร็วจากนี้ไป

“ในส่วนการทำงานทางการเมือง อาจจะมีบุคคลบางกลุ่มพูดประเด็นต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งอาจจะทำให้เกิดข้อสงสัย หรือข้อกังวลแก่ประชาชนได้ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการชี้แจงความกระจ่างให้เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารโดยตรง ถูกต้องโดยไม่บิดเบือน เป็นหน้าที่สำคัญที่รัฐบาลจะพยายามชี้แจงด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง ชัดเจน และหากเราร่วมมือไปด้วยกัน ทุกสิ่งจะสามารถบรรลุเป้าหมายและสำเร็จด้วยดี”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง