นับเป็นนักธุรกิจที่โดดเด่นในวงการอสังหาริมทรัพย์ ถูกจับตาโดยอำนาจรัฐตลอด นับตั้งแต่ คสช.เข้ายึดอำนาจ เคยถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่ค่ายทหาร จนถูกกลไกรัฐมองเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล ช่วงหลังๆออกมาเสนอแนะ “รัฐบาลลุงตู่” ถึงทางออกจากวิกฤติของบ้านเมือง “ข้อเสนอของผมทำไปด้วยความปรารถนาดีต่อประเทศ” “บิ๊กบอสแสนสิริ” นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท แสนสิริ (มหาชน) บอกต่อ ทีมการเมือง

หลายคนที่ติดตามข้อเสนอผ่านช่องทางต่างๆของ “บิ๊กบอสแสนสิริ” ถึงรัฐบาล เข้าใจว่าเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล นายเศรษฐา บอกว่า ขอให้กลับไปอ่านข้อเสนอของผมใหม่ เป็นเหตุเป็นผล เสนอแนะภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และความเป็นไทย สุภาพ เคารพผู้ใหญ่

เพื่อให้ประเทศอยู่รอด เดินไปข้างหน้า ไม่ใช่เอาชนะคะคาน ด่าทอกัน เพื่อความสะใจ

การทำจดหมายเปิดผนึกถึงยูนิเซฟก็เช่นเดียวกัน ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมม็อบราษฎรที่แยกปทุมวัน กทม. ทุกการชุมนุมที่เกิดขึ้น ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง หมดยุคใช้ความรุนแรง

...

ผมเป็นพันธมิตรกับยูนิเซฟนับ 10 ปี ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกดูแลความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ช่วยผลักดันนโยบายหลายด้าน ไม่มีประเด็นอื่น ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่เห็นด้วย แล้วก็ไม่เคยบอกว่าเห็นด้วยกับการชุมนุมหรือไม่ชุมนุม หรือเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องหรือไม่เห็นด้วย

ไม่ได้เอาต่างชาติเข้ามาแทรกแซง

เจ้าตัวพยายามไม่ขอพูดถึงมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ล้อไปกับการเจริญเติบโตของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) จีดีพีไม่โต ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่โต ก็ต้องทำให้จีดีพีโตให้ได้

คราวนี้เจอการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง นายเศรษฐามีมุมมองว่า ยังมีปัญหาภายในประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด

ทั้ง 1.รัฐธรรมนูญปี 60 มีประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วย มีข้อบกพร่อง มีประเด็นแก้ไขเยอะ จุดยืนของผมชัดเจนประเด็นที่มาของ ส.ว. ซึ่งไม่มีความเท่าเทียม

ดีใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ยอมรับว่า “รัฐธรรมนูญมีประเด็นที่ต้องแก้ไข”

ขอให้ท่านนายกฯเร่งแก้ไขโดยเร็วอย่างจริงใจ

เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์แบบ ถูกต้องตามจารีตประเพณีของความเป็นคนไทย

อย่าให้เกิดความล่าช้าโดยใช้แท็กติกทางการเมือง

ขอให้มองข้ามโควิด หากจบโควิด ยังแก้รัฐธรรมนูญไม่เสร็จย่อมมีปัญหาตามมาเหมือนเดิมอีก

2.การบังคับใช้กฎหมายให้มีความเสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรม ตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้บางฝ่ายโดนหนักกว่าบางฝ่าย ปัจจัยนี้ส่งผลต่อนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามา เพราะเขาดูเรื่องกฎหมายเป็นหลัก ทั้งพื้นฐานรัฐธรรมนูญ พื้นฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศเป็นสำคัญ

และ 3.การศึกษาต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ ไม่ได้บอกว่าเยาวชนที่ออกมาร้องเรียนเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เราต้องมาคิด ประเด็นนี้มีมานานแล้ว

รัฐธรรมนูญ การบังคับใช้กฎหมาย การศึกษา ถือเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนประเทศทุกด้าน

ส่วนการแพร่ระบาดโควิดและสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี เชื่อว่ารัฐบาลมีความจริงใจและตั้งใจปลุกเศรษฐกิจให้ขึ้นมา แต่ยังติดขัดอยู่หลายประเด็น

อาทิ ทำอย่างไรเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นหัวใจภาคใหญ่ของธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ล่าสุดเพิ่งใช้ไป 1.3 แสนล้านบาท หากเอสเอ็มอีมีปัญหาเกิดขึ้น ย่อมทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีปัญหา ส่งผลปฏิกิริยาลูกโซ่ไปถึงลูกค้าชั้นดีของธนาคาร

ซอฟต์โลนเป็นไอเดียที่ดี แต่เข้าถึงลำบาก ได้คุยกับซีโอโอของแบงก์หลายท่าน พูดตรงกันว่ากฎหยุมหยิมเยอะมาก วิธีแก้เมื่อธนาคารต้องปล่อยเงินกู้ ให้ปล่อยครึ่งหนึ่งของวงเงินและซอฟต์โลนปล่อยอีกครึ่งหนึ่ง

คนละครึ่งระหว่างแบงก์กับรัฐบาล

เงินก้อนนี้นำไปพัฒนาธุรกิจ ลงทุน ห้ามนำไปใช้หนี้เก่า

เมื่อเอสเอ็มอีกลับมาได้ต้องจ่ายหนี้แบงก์และรัฐบาลก่อน

จังหวะนี้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องต้องกล้าทำสิ่งเหล่านี้

นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆที่เกี่ยวกับประชานิยม โดยเฉพาะการผลักเม็ดเงินไปสู่ประชาชนทุกคน ทำได้ช้ามาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ก็เข้าใจปัญหาตรงนี้ โดยได้ปรับเปลี่ยนบุคลากรที่เหมาะสม เข้าไปจัดการผันเงินออกให้รวดเร็วที่สุด

มาตรการหลายๆอย่างที่ออกไป เวิร์กบ้าง ไม่เวิร์กบ้าง เช่น มาตรการคนละครึ่งเวิร์ก เสียงตอบรับดี เงินหมุนในระบบเศรษฐกิจไปเรื่อยหลังออกมาระลอกแรก ระลอกสอง

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ควรปรับให้เงินก้อนใหญ่ขึ้น ใครมีสิทธิ์รับเอาไปให้ได้พร้อมกัน เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยปริมาณที่มันใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้

การจ้างงานก็เช่นเดียวกัน รวมถึงนักศึกษาจบใหม่ โดยส่วนหนึ่งของกลไกเศรษฐศาสตร์ในภาพใหญ่ ควรพยายามเก็บคนเหล่านี้อยู่ในระบบให้ได้มากที่สุดและนานที่สุดเท่าที่เก็บได้ เพื่อไม่ปล่อยให้เป็นภาระของสังคม

ปัญหาราคาพืชผลผลิตทางการเกษตรทุกชนิด ควรมีมาตรการสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรว่า จะได้ในราคาที่เหมาะสม อย่าปล่อยให้ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำของไทยที่สูงที่สุดในโลก คนเหล่านี้ต้องการเยียวยา

รัฐบาลต้องมีมาตรการให้คนเหล่านี้อยู่ให้ได้ ถ้าอยู่ไม่ได้เราก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีความสุขหรอก

ขณะเดียวกันในช่วงปลอดโควิดก่อนเจอระลอกสอง เราได้ทำอะไรบ้าง ทั่วโลกไม่ได้เดินทางมา 12 เดือนมันอั้น ถ้าเดินทางคิดว่าจะไปประเทศไหน ต้องตอบว่าประเทศไทย เราเตรียมพร้อมรองรับตรงนี้อย่างไร เช่น สายการบินคิดรองรับไว้หรือยัง การบินไทยอยู่ในช่วงแผนฟื้นฟู บินไม่ได้ ช่วงเวลานี้ต้องทำและเตรียมพร้อม

โครงสร้างพื้นฐานต้องเร่งลงทุน ติดขัดปัญหาต้องรีบแก้ไขให้ทุกอย่างเดินหน้าไปให้ได้

แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในระบบราชการ หรือระบบการเมือง คือ ใครเสนออะไร ก็ขอตั้งแง่และชอบอธิบายให้ประชาชนเห็นว่าทำไมทำไม่ได้

หรือบางครั้งชอบอ้างว่า “ในเชิงการเมืองแล้วมันทำไม่ได้” ทั้งที่ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเยอะมาก พื้นฐานชีวิตของทุกคนเปลี่ยนหมด ในช่วงเวลาที่วิกฤติจริง ถึงเวลาปรับความคิดกันใหม่ได้หรือไม่

วันนี้ยังพูดอีกหรือว่าในเชิงการเมืองมันทำไม่ได้

อันนี้ไม่ใช่การเมือง มันเป็นความอยู่รอดของประเทศ

วันนี้การเมืองต้องมาทีหลัง ความอยู่รอดของประเทศมาก่อน

ความจริงคนเหล่านี้ต้องมีหน้าที่ทำให้ได้ บริหารจัดการทุกภาคส่วนให้เหมาะสม ยิ่งในสถานการณ์โลกใบนี้และประเทศไทยไม่เคยเจอวิกฤติเยี่ยงนี้มาก่อน ก็ต้องกล้าทำอะไรหลายๆอย่าง

วัคซีนมาครบเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ได้ทั่วถึงหรือเปล่า ใครได้ฉีดก่อนได้ฉีดทีหลัง รัฐบาลควรทุ่มซื้อวัคซีนฉีดทุกคน ไม่เช่นนี้มีปัญหาตามมาแน่นอน โควิดอีกหลายระลอกมีโอกาสตามมาอีก ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

รัฐบาลยังมีเงินอยู่เยอะก็จริง แต่อาจไม่พอ ในจังหวะนี้สถานการณ์การเงินของประเทศไทยถือว่าดีมาก สามารถกู้เงินได้อีก ที่กู้มา 1 ล้านล้านบาทไม่พอ ควรกู้อีก 2-3 ล้านล้านบาท เพราะไม่รู้อนาคตอะไรจะเกิดขึ้น

พันธบัตรรัฐบาลในระยะยาว ดอกเบี้ยแค่ 1-2% ต้นทุนการเงิน 3% นำไปใช้ให้ถูกต้อง ใช้ให้เป็น เพื่อปั่นเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ภาษีกลับมา 7% สามารถใช้หนี้คืนได้อยู่แล้ว

ข้อย้ำว่าการเสนอแนะทางออกของประเทศบนต่อรัฐบาลความปรารถนาดี ไม่ได้เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล วันนี้ประเทศวิกฤติโควิดและการเมืองสุดโต่งทั้ง 2 ขั้ว

ถึงเวลาต้องรวมเป็นหนึ่ง

สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น

เพราะประเทศไทยรอด เราก็อยู่รอด

บ้านเมืองไม่รอด เราก็ไปไม่รอด.

ทีมการเมือง