นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้า ปชป. ชี้ ความเป็น “มืออาชีพ” ขององค์กรอิสระ ยก 4 เหตุ ชำแหละ ฝาก กมธ.แก้ไข รธน.-กฎหมายลูก ช่วยแก้ไขอย่างจริงจัง

วันที่ 26 ธ.ค. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “ความเป็นมืออาชีพขององค์กรอิสระ กกต. และ ป.ป.ช.” ว่า ผมเกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ กล่าวคือ ป.ป.ช.และ กกต.ในระดับหนึ่ง เพราะเคยเป็นทั้งผู้ร้อง และเคยเป็นทั้งพยานในองค์กรอิสระเหล่านี้ เห็นความเป็นมืออาชีพของเจ้าพนักงานสืบสวน หรือไต่สวนของทั้ง กกต.และ ปปช. เห็นว่า ความเป็นมืออาชีพของพนักงานสืบสวนและไต่สวนของ กกต. สู้พนักงานไต่สวนของ ป.ป.ช.ไม่ได้ ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผมเห็นว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมีความเห็นว่า

1. บุคลากรในองค์กรอิสระเหล่านี้ ต้องเข้าใจว่า หัวใจขององค์กรอิสระคืออะไร เขามีองค์กรอิสระไว้เพื่อคุ้มครองเสียงข้างน้อย มีไว้คุ้มครองบุคคลที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย มิใช่คุ้มครองเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย อันนี้เป็นปรัชญาในทางการเมือง ที่เขาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ หากบุคลากรใน กกต.หรือ ป.ป.ช. หรือองค์กรอิสระใดไม่เข้าใจเรื่องนี้ แทนที่ท่านจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย ท่านกลับทำลายประชาธิปไตยให้ย่อยยับด้วยมือของท่านเอง ผมผ่านการเป็นกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านการเป็นกรรมาธิการพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาตลอดชีวิตของการเป็นนักการเมือง ก็พอจะซึมซับแก่นในเรื่องนี้มาบ้าง

2. การชั่งน้ำหนักคำพยานของเจ้าพนักงานในองค์กรอิสระเหล่านี้ น่าจะมีปัญหา ยกตัวอย่าง เรื่องของ กกต.บางคดี แม้พยานรับว่าเป็นคนจ่ายเงินซื้อเสียงจริงๆ แต่หลังจากนั้น (หลายวัน บางคนก็เป็นเดือน) พยานจะมาขอกลับคำให้การเดิมว่า ไม่ได้ซื้อเสียง แต่เงินที่ให้ในการเลือกตั้ง เป็นเงินให้เด็กไปซื้อน้ำมันพืชบ้าง เป็นค่าหน่วยกิตให้นักศึกษาบ้าง เป็นค่าเลี้ยงไก่บ้าง เจ้าพนักงานสืบสวนของ กกต.กลับไปเชื่อคำให้การที่กลับคำในภายหลังเสียทั้งสิ้น (ทั้งที่ให้การหลังจากครั้งแรกเป็นเวลานาน) ก็น่าสงสัยวิธีชั่งน้ำหนักคำพยานอยู่ไม่ใช่น้อย การชั่งน้ำหนักคำพยานเหล่านี้ควรศึกษาดูแนวคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ศาลมีวิธีชั่งน้ำหนักคำพยานอย่างไร เพื่อเอาเป็นตัวอย่างในการทำงาน

...

นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า ประการสำคัญในการชั่งคำพยานขององค์กรอิสระนั้น กฎหมายบัญญัติเพียง "น่าเชื่อว่า" เท่านั้น มิได้บัญญัติว่าต้องรับฟังอย่าง "ปราศจากข้อสงสัย" องค์กรอิสระ จึงต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้อย่างถี่ถ้วน หากข้อเท็จจริง "น่าเชื่อว่า" ท่านก็ต้องส่งสำนวนไปที่ศาล มิใช่ยุติเรื่องเสียเอง

3. ทุกเรื่องที่สืบสวนไต่สวนองค์กรอิสระทั้งหลายไม่ระบุว่า องค์กรไหน อย่า"ตั้งธง"ไว้ล่วงหน้า และที่สำคัญต้องอย่าให้มีการ "วิ่งเต้น" เพราะนั่นคือการทำลายประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงที่สุด

และ 4. ผมว่าบุคลากรขององค์กรอิสระทุกองค์กร ต้องเข้มแข็ง ทำงานอย่างมืออาชีพ อย่าทระนงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานในองค์กรอิสระ ต้องมีศักดิ์ศรีของข้าราชการ เดินไปกินน้ำชากาแฟ แล้วบอกชาวบ้านว่า เราเป็นข้าราชการของ กกต., ป.ป.ช. หรือผู้ตรวจการแผ่นดินดูว่า ชาวบ้านจะลากเก้าอี้ให้ข้าราชการหน่วยงานไหนนั่ง หรือหน่วยงานไหนที่ชาวบ้านเขาปฏิเสธ ไม่ยอมนั่งด้วย ผมนั่งอ่านสำนวนสืบสวนไต่สวนของ กกต.มา 2-3 วันแล้ว ผมต้องเบรกการอ่านทุก 3 ชั่วโมงเพื่อออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ บอกตรงๆ ว่า ในความเห็นของนักกฎหมายด้วยกัน ผมหงุดหงิดมากกับความเป็น "มืออาชีพ" ขององค์กรอิสระนี้ ฝากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญช่วยดูเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วย ถ้าสงสัย มาถามผมเพื่อช่วยกันปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

"วันนี้เขียนยาว เพราะต้องการให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น ได้ตระหนักถึงปัญหาขององค์กรอิสระ ผู้ใดจะวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ โปรดระมัดระวัง ผมไม่อยากเป็นจำเลยกับท่าน เราร่วมกันวิพากษ์ และติชม เพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น” นายนิพิฏฐ์ ระบุ