คำแนะนำของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยแนวทางการใช้โทษอาญา พ.ศ.2563 ที่นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ออกประกาศอย่างเป็นทางการ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ และการยกโทษจำคุกและการกักขังแทนโทษจำคุก ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
การรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ
ข้อ 6 บัญชีมาตรฐานโทษถือเป็นเพียงข้อแนะนำ หากศาลเห็นว่าการรอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษเหมาะสมได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดและเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดยิ่งกว่าการจำคุก ศาลอาจพิพากษาแตกต่างไปจากบัญชีมาตรฐานโทษได้
ข้อ 7 การรอการกำหนดโทษ พึงใช้ในกรณีที่ศาลเห็นว่า ควรให้โอกาสผู้กระทำผิดกลับตัว โดยไม่ต้องมีประวัติว่าเคยต้องโทษมาก่อน
ข้อ 8 การรอการลงโทษ อาจรอทั้งโทษจำคุกและโทษปรับก็ได้
ข้อ 9 ในกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติที่วางไว้ ศาลอาจใช้วิธีตักเตือน เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ หรือเพิ่มความเข้มข้นของเงื่อนไข เช่น การคุมประพฤติแบบเข้มงวด การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบ จำกัดการเดินทาง หรือนำโทษปรับที่รอไว้มาลงโทษจำเลยก่อน โดยยังไม่ลงโทษจำคุกทันทีก็ได้ แต่หากจะลงโทษถึงจำคุก พึงพิจารณาว่าสมควรจะใช้วิธีการลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 หรือไม่ด้วย เพื่อเลี่ยงการมีประวัติต้องโทษจำคุก และหากใช้วิธีการดังกล่าวให้นำความในข้อ 11 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การยกโทษจำคุกและการกักขังแทนโทษจำคุก
ข้อ 10 กรณีที่ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนพึงพิจารณาเลี่ยงโทษจำคุกโดยวิธีการต่อไปนี้ตามลำดับ (1) ยกโทษจำคุก เสียและคงปรับสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 (2) ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
...
ข้อ 11 การกักขังแทนโทษจำคุกเป็นมาตรการเพื่อฟื้นสำนึกผู้กระทำผิดที่ไม่ร้ายแรงและมีโอกาสกลับตัวได้ แต่มีความจำเป็นต้องจำกัดเสรีภาพชั่วขณะเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่พึงมีต่อสังคมและเกรงกลัวต่อการกระทำผิดอีก จึงควรกำหนดระยะเวลาในการกักขัง เพียงเท่าที่จำเป็นต่อการป้องปรามและเหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำผิดแต่ละคน โดยอาจกำหนดระยะเวลาให้น้อยกว่าโทษจำคุกที่วางไว้ได้
กรณีศาลจะมีคำพิพากษาให้กักขังผู้กระทำผิดไว้ในที่อาศัยของผู้นั้นเองหรือของผู้อื่นที่ยินยอมรับผู้นั้นไว้ หรือสถานที่อื่นที่อาจกักขังได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 24 วรรคสอง ศาลพึงพิจารณาถึงลักษณะการกระทำความผิดและสภาพของผู้ถูกกักขัง เช่น ผู้ถูกกักขังเป็นผู้สูงอายุ เป็นหญิงมีครรภ์หรือเพิ่งคลอดบุตร มีสภาพร่างกายไม่เหมาะสมที่จะกักขังไว้ในสถานที่กักขัง หรือเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ซึ่งถ้าต้องกักขังจะถึงอันตรายแก่ชีวิตหรืออาจติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ เป็นต้น
ศาลพึงพิจารณาสถานที่กักขังว่าอยู่ในสภาพที่เหมาะสมหรือไม่ หากไม่อยู่ในสภาพดังกล่าว ศาลอาจมีคำสั่งให้กักขังในสถานที่อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 24 วรรคสาม
คำแนะนำของประธานศาลฎีกาชิ้นนี้มีความหมายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง.
“ซี.12”