ประเทศไทยถูกตั้งข้อสังเกตมานานว่า เป็นประเทศหนูทดลองยา หมายความว่า ถ้ามียาอะไรใหม่ๆก็จะเอามาทดลองกับคนไทยก่อน แล้วคนไทยก็ใสซื่อ ชอบเป็นหนูทดลองอะไรเป็นของใหม่เอาหมด แม้แต่ สารเคมีสารพิษที่เป็นอันตราย ต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์ ในหลายประเทศห้ามนำเข้า แต่ ประเทศไทย สามารถนำเข้าได้อย่างเสรี สมกับเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา
ไม่กี่วันที่ผ่านมา วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถีหรือ ไบโอไทย ออกมาตั้งข้อสังเกตการที่ สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย จัดเสวนา ก้าวต่อไปอย่างไร เมื่อเกษตรกรไทยไร้พาราควอต อ้าปากก็เห็นไปถึงลิ้นไก่ เนื้อหาของการเสวนาจะให้มีการทบทวนการแบนสารเคมีพิษภาคเกษตร หรือ พาราควอต ท่าเดียว
อ้างว่ามีเกษตรกรกว่าร้อยละ 25 ต้องยกเลิกอาชีพเกษตรกรเพราะไม่มีพาราควอตใช้ และพบว่าสมาคมดังกล่าวมีบทบาททางด้านวิชาการ ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ในภาควิชาพืชไร่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มาเป็นกรรมการในสมาคม ต่อมาก็มีการแต่งตั้งให้ ตัวแทนบริษัทสารเคมี เข้ามาเป็นกรรมการ
ที่สำคัญคือสมาคมนี้ได้รับทุนวิจัยจาก บริษัทผู้ผลิตพาราควอต สมาคมวิทยาการวัชพืชฯตั้งอยู่ใน กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ แต่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสารเคมี เป็นอะไรที่ค่อนข้างจะไม่ชอบมาพากลอยู่แล้ว
วิธีการทำงานยังพยายามที่จะส่งเสริมให้มีการนำสารเคมี พาราควอต กลับมาใช้อีกครั้ง ก็ยิ่งพิสดารเข้าไปอีก การทำงานที่สวนทางกับนโยบายของรัฐบาล ห้ามใช้สารเคมีเหล่านี้ในการเกษตร และเป็นหลักสากลของทุกประเทศที่ห้ามใช้สารเคมีชนิดนี้แล้วเพราะเห็นโทษมากกว่าประโยชน์
ก็แสดงว่ามีคนได้ประโยชน์
...
ต้องย้อนไปที่มติของ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้มีมติให้แบน 3 สารพิษไปแล้ว ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเซต ในขณะเดียวกันก็มีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งอ้างว่าเป็นเกษตรกรขอให้ทบทวนการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดใหม่ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น
เรื่องก็เลยคาราคาซังอ้างต้องมีการสำรวจสต๊อกกันให้เรียบร้อยก่อนและหาทางแก้ไขสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่สั่งเข้ามาแล้วจะจัดการอย่างไร ทั้งๆที่มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดเวลาในการห้ามใช้ภายใน 60 วัน
มีรายงานว่า ทุกวันนี้ พาราควอต ก็ยังมีการนำมาใช้อยู่ แต่จะนำมาจากไหน และนำไปใช้ที่ไหน ด้วยวิธีใด เป็นเรื่องที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะต้องไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริง เอาง่ายๆแค่ ผักปลอดสารพิษ ที่เคยนิยมบริโภคกันในหมู่คนรักสุขภาพ ทุกวันนี้ ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นผักปลอดสารพิษจริงอีกต่อไป เพราะส่วนผสมในวัสดุที่ใช้ปลูกก็ไม่พ้นสารเคมีอยู่ดี และเพราะความเห็นแก่ตัวของคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่เลยต้องเดือดร้อนไปด้วย.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th