ถามตรงๆ กับจอมขวัญ พูดคุยหลังคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ "บิ๊กตู่" ไม่ผิดคดีบ้านพักหลวง โดยไม่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่สิ้นสุดความเป็นนายกฯ ไม่ผิดจริยธรรมร้ายแรง
จากกรณี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รอดคดีบ้านพักหลวง ชี้ไม่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่สิ้นสุดความเป็นนายกฯ ไม่ผิดจริยธรรมร้ายแรง ไม่ทำให้สถานะนายกฯ ต้องสิ้นสุดลง ส่งผลนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไป
ล่าสุด วันที่ 2 ธ.ค. 2563 ในรายการ ถามตรงๆ กับจอมขวัญ ได้ร่วมพูดคุยกับ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หลังคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รอดคดีบ้านพักหลวง
ทางด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เผยว่า การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ เรามั่นใจในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ฉะนั้นทั้ง 2 เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 184 (3) ข้อระเบียบกองทัพบก แล้วก็เรื่องมาตรฐานจริยธรรม เมื่อดูในข้อกฎหมายทำให้คิดว่าผ่านแล้ว ส่วนในเรื่องข้อเท็จจริงคือ พล.อ.ประยุทธ์ อาศัยอยู่ในบ้านพักของทางราชการจริง คือบ้านใน ร.1 ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงทั้ง 2 อย่างมีรายละเอียดที่ชัดเจน จึงกล้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีความมั่นใจมากว่ากรณีนี้ถือว่าท่านฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญจริง
ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เผยว่า ด้วยข้อกฎหมายเริ่มจากคำร้องของฝ่ายค้าน เป็นการยกระเบียบกองทัพบกผิดฉบับ ไปยกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคารบ้านพักของข้าราชการ ลูกจ้างประจำในสังกัดกองทัพ พ.ศ.2553 ซึ่งระเบียบนี้มันใช้กับข้าราชการทั่วไปของกองทัพบก แต่ที่นายกฯ อยู่ในบ้านพักนั้นในฐานะ ผบ.ทบ. เป็นไปตามระเบียบด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.2548 ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ตอนนี้ ระเบียบนี้ชัดเจนอยู่แล้วว่ากำหนดให้เป็นที่พักของผู้บังคับบัญชาชั้นสูง หรืออดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกที่ทำคุณประโยชน์ต่อกองทัพบกและประเทศชาติ ซึ่งมีระเบียบรองรับหมด
...
นายประเสริฐ เผยต่อว่า เรายอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นเด็ดขาด ฉะนั้นประเด็นนี้ต้องถือว่าไปต่อยาก แต่ถ้าสมมติศาลวินิจฉัยเป็นโทษต่อ พล.อ.ประยุทธ์ มันไปต่อได้ คือจะต้องส่ง ป.ป.ช. ต่อ และก็จะต้องไต่สวนข้อเท็จจริง แล้วก็ส่งเรื่องให้อัยการเพื่อฟ้องศาลฎีกาต่อ ซึ่งมีโทษทางการเมืองด้วย แต่เมื่อศาลวินิจฉัยออกมาแบบนี้ถือเป็นเด็ดขาด ก็คงทำอะไรต่อยาก.