นโยบายของผู้ว่าฯกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ออกคำสั่งห้ามรถบรรทุก 6 ล้อ 10 ล้อ วิ่งเข้าไปในพื้นที่ กทม.ตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2564 เพื่อลดปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่ กทม.ตามนโยบายของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏว่าปัญหาบานปลาย

เมื่อ สมาพันธ์ขนส่งทางบก ประกาศจะประท้วง ผู้ว่าฯกทม. เพราะรถบรรทุกกว่า 1 แสนคันได้รับผลกระทบทันที เป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจค่อนข้างจะรุนแรง ทั้งกระบวนการผลิตขนส่ง การกระจายสินค้า การนำเข้า การส่งออก การก่อสร้างต่างๆ กลายเป็นซัพพลายเชนในระบบขนส่งที่จะกระจายเป็นวงกว้าง ที่ผ่านมาก็ห้ามรถบรรทุกเข้า กทม.15 ชั่วโมงต่อวัน มีเวลาที่ทำงานได้จริง ประมาณ 8-9 ชม.ต่อวัน ความเสียหายจะตกประมาณเดือนละ 3 หมื่นล้านบาท เป็นอย่างน้อย

เพราะใน กทม.เป็นศูนย์การขนส่งทุกอย่าง ทั้งอุตสาหกรรม การเงิน การศึกษา ศูนย์รวมอำนาจของภาครัฐ เฉพาะประชากรก็มีกว่า 10 ล้านคน เข้าไปแล้ว และถ้าจะวัดกันที่ปริมาณค่าพีเอ็ม 2.5 ปริมาณสูงสุดอยู่ที่แหล่งอุตสาหกรรมมากกว่า เช่น อ.เมืองสมุทรสาคร วัดปริมาณค่าพีเอ็ม 2.5 ได้ปริมาณสูงสุด เป็นต้น

ถ้ารัฐบาลไม่ผ่อนปรนก็จะนำเรื่องไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป ถ้าฟังเหตุผลของฝ่ายรถบรรทุก ก็มีน้ำหนักพอสมควร แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับวิธีการแก้ปัญหาเพราะ ถ้าจะเจาะจงเรื่องของปริมาณฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ก็ต้องไปแก้กันที่ต้นตอ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด การเข้มงวดในการลดมลพิษจากการใช้รถใช้ถนนทุกประเภทไม่ใช่เฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่จะต้องแก้กันที่ต้นเหตุมากกว่า นั่นก็คือ คุณภาพและประสิทธิภาพของ เครื่องยนต์และพลังงานเชื้อเพลิง การเข้มงวดกับอายุการใช้งานเครื่องยนต์

...

ไม่ใช่มาแก้กันที่ปลายเหตุ หรือแก้ผ้าเอาหน้ารอด

ความไม่พอดีของการบริหารจัดการตามนโยบายของรัฐ บ้านเรายังมีปัญหามาก เพราะเรามองแต่ปัญหาเฉพาะหน้า เราไม่ได้มองไปข้างหน้า ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารด้วย

ยกตัวอย่างในประเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE ตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมา เรียกชื่อว่า กระทรวงแห่งความเป็นไปได้ หรือ Ministry of Possibilities ถือว่าเป็นแห่งแรกในโลกก็ว่าได้ เนื่องจากอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบร้ายแรง เช่น ไวรัสโควิด–19 เป็นต้น ในอนาคตทุกประเทศจะเผชิญกับความท้าทายทั้งจากธรรมชาติและความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออนาคตของประชากรแต่ละประเทศ

กระทรวงที่ว่านี้ ไม่มี รมต. แต่ได้รับการชี้นำโดยตรงจาก ครม. เป็นกระทรวงที่รวบรวมบุคลากรระดับคุณภาพจากภาครัฐและเอกชน ภาควิชาการ ประชาสังคมทุกสาขา มีภารกิจหลักเพื่อออกแบบและพัฒนาโซลูชันใหม่ๆที่จะนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น

โครงสร้างของกระทรวงมีการจัดตั้งกรมใหม่ๆ ตามโจทย์ความท้าทายในอนาคต มีการทำงานแบบคล่องตัวเป็นอิสระ มีการตั้งกรมใหม่ๆขึ้นมารองรับงานที่จะสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น กรมบริการเชิงรุก กรมส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก กรมจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมส่งเสริมผู้มีทักษะสูง เป็นต้น

เป็นโมเดลใหม่ของประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th