รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ-ม็อบนักเรียน ถกประเด็นร้อนปัญหาการศึกษาไทย ทรงผม-ชุดนักเรียน กฎระเบียบล้าหลัง การละเมิด และความรุนแรงในโรงเรียน ในรายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ในรายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ ออกอากาศทางช่องไทยรัฐทีวี 32 ได้เชิญ ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับตัวแทนกลุ่มนักเรียน "น้องมิน" ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว และ "น้องเพกา" เลิศปริสัญญู ตัวแทนจากเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ
น้องมิน เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องหลักยังเป็นการปฏิรูปการศึกษาให้ดีขึ้น กฎระเบียบที่ล้าหลัง หยุดคุกคามนักเรียน ซึ่งการชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้เพิ่มข้อเรียกร้องของราษฎร เพื่อให้พื้นที่นักเรียนพูดถึงปัญหาของตัวเอง
ดร.วีระ เปิดเผยความคืบหน้าว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการ 3 เรื่องคือ 1. การปฏิรูปการศึกษา ได้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและการศึกษา ได้ดูตั้งแต่การผลิตครู ระบบการบริการจัดการ คุณธรรมในกระทรวงศึกษาที่การ การเรียนการสอน ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของชาติ
ส่วนตัวชื่นชมน้องๆ ที่มีความตั้งใจอยากให้ประเทศชาติดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ทรงผม, เครื่องแต่งกายนักเรียน, การคุกคามทางเพศ ความรุนแรงในสถานศึกษา การแสดงออกทางการเมือง ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการมาพูดคุยถึงเรื่องนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. ข้าราชการ 2. ผู้ทรงคุณวุฒิ และ 3. ผู้แทนนักเรียนแต่ละจังหวัด รวมทั้งได้ติดต่อไปยังกลุ่มนักเรียนเลวเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วหลายครั้ง
น้องมิน กล่าวต่อว่า ทางกลุ่มนักเรียนเลว ไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ เนื่องจากทางกระทรวงฯ ได้ทาบทามมาเพื่อให้ไปร่วมประชุมเฉยๆ จึงได้ปฏิเสธไป เนื่องจากตั้งข้อสังเกตว่า ตัวแทนนักเรียนที่ได้รับเชิญอาจไม่ได้รับอิสระทางความคิดอย่างแท้จริง
...
ส่วนเหตุผลที่ 2 คือ ไม่มีสื่อมวลชนมาร่วมงาน ซึ่งทางกลุ่มนักเรียนเลวแจ้งกลับไปว่าจะขอถ่ายทอดสดการประชุม ซึ่งทางกระทรวงฯ ไม่อนุญาต จึงเป็นเหตุผลให้ทางเราไม่เข้าร่วม เพราะมองว่าไม่โปร่งใส แต่หลังจากนั้น ในวันประชุมจริงทางกระทรวงฯ กลับมีการถ่ายทอดสด ทำให้มองเห็นถึงความไม่จริงใจ และเหตุผลที่ 3 มองว่า สัดส่วนของคณะกรรมการชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ทั้งที่เป็นเรื่องของเด็ก นั่นคือ ทรงผมนักเรียน
ดร.วีระ กล่าวว่า ส่วนตัวเข้าใจความรู้สึกของกลุ่มน้องๆ และยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการช่วงชิงถ่ายทอดสด หากมีการประชุมครั้งหน้าทางกลุ่มนักเรียนเลวสามารถถ่ายทอดสดได้
สำหรับข้อสรุปในเรื่องของทรงผม นักเรียนสามารถตัดสั้นหรือยาวได้ ขึ้นอยู่กับโรงเรียน หากไว้ยาวจะต้องรวบให้เรียบร้อย ซึ่งข้อตกลงจะต้องผ่านคณะกรรมการสถานศึกษา และก่อนจะออกเป็นระเบียบว่าด้วยทรงผมจะต้องทำประชาพิจารณ์ก่อนเพื่อให้เป็นข้อสรุปของโรงเรียน
น้องเพกา เปิดเผยว่า ปัญหาในเรื่องของการละเมิดสิทธิในโรงเรียน หรือ กฎกระทรวงกำหนดให้นักเรียนไว้ทรงผมตามระเบียบ จริงๆ แล้วปัญหาดังกล่าวแก้ไขได้ง่ายมาก เพราะมีระบุในรัฐธรรมนูญว่า ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย
ดร.วีระ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเพียงสิทธิอย่างเดียว แต่กำหนดเรื่องหน้าที่ด้วย
"สมมุติถ้าน้องไว้ผมยาวสักศอกหนึ่ง คนที่เดือดร้อนคือพ่อแม่ ต้องซื้อยาสระผมมาสระให้นักเรียน เวลาในห้องเรียนผมเราที่ยาวเป็นศอกก็บังเพื่อนข้างหลัง นี่คือความรู้สึกของคนอื่น"
ดังนั้นจึงต้องทำประชาพิจารณ์ จำเป็นต้องฟังเด็กทุกกลุ่ม เมื่อมีการร้องเรียน ทางกระทรวงฯ ได้ตั้งคณะกรรมการไปสอบถามความคิดเห็นของนักเรียน ประมวลผลไป 5 เรื่อง 1.ทรงผม 2.การแต่งกาย 3.การละเมิด และความรุนแรงในสถานศึกษา 4.กฎระเบียบที่ล้าหลังที่มีผลกระทบต่อนักเรียน 5.การแสดงออกทางการเมือง
ส่วนเรื่องที่ดำเนินการไปแล้ว คือ เรื่องทรงผมกับชุดนักเรียนได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนการแสดงออกทางการเมือง ได้มีการประชุมไปเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 25 พ.ย.63 จะมีการประชุมเรื่องกฎระเบียบที่ล้าหลัง และคาดว่าในวันที่ 27 พ.ย.63 จะมีการประชุมเรื่องการละเมิดและความรุนแรงในสถานศึกษา เมื่อดำเนินการในส่วนนี้ทั้งหมดแล้วก็จะส่งเรื่องไปยังบอร์ดใหญ่
น้องมิน เปิดเผยว่า สิ่งที่การศึกษาไทยต้องพัฒนาคือต้องให้นักเรียนมีความเข้าใจในเรื่องการแต่งตัวว่า จริงๆ แล้ว นักเรียนจะแต่งตัวอะไรมาเป็นเรื่องของเขา อย่าตัดสินคนจากภายนอก หากยังมีเด็กที่ตัดสินจากภายนอกจะสะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาไทยพังพินาศ เพราะไม่สามารถสอนเด็กเข้าใจในสิ่งพวกนี้ได้ แต่สิ่งที่ทำคือบังคับให้เด็กแต่งตัวเหมือนกัน ซึ่งการแต่งตัวเหมือนกันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ในชุดนักเรียนเองก็มีหลายราคา มีหลายเกรด
น้องเพกา กล่าวว่า การแต่งกายเป็นการสะท้อนตัวตนของเรา การบังคับให้ใส่ชุดตามความคิดของผู้ใหญ่ จะเป็นการสกัดการเจริญเติบโตทางความคิดของเด็ก.