นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ชี้ ไทยได้ประโยชน์จากการลงนาม "อาร์เซ็ป" แต่ยังเหลือขั้นตอนทำสัตยาบันของสมาชิก ส่วนหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP ยังไม่เข้า ครม.ในครั้งนี้
วันที่ 17 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ครม.ว่า ในที่ประชุมวันเดียวกันนี้ จะยังไม่มีการนำเรื่องความตกลงที่ครอบคลุม และก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เข้าหารือ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป ซึ่งหลังจากลงนามร่วมกัน เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า จะมีผลบังคับใช้ทันที ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการให้สัตยาบันระหว่างประเทศ สมาชิกทั้ง 15 ประเทศ รายละเอียดขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่กำหนดไว้ สำหรับประเทศไทย ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ถ้ารัฐสภาผ่านความเห็นชอบ จึงจะสามารถแจ้งให้กับทางเลขาธิการอาร์เซ็ป ทราบ ซึ่งตนจะเร่งนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาโดยเร็ว และให้ทันในสมัยประชุมนี้ มีระยะเวลาอีกเพียง 4 เดือน คือ พ.ย.2563-ก.พ.2564
“การจะมีผลบังคับใช้ได้นั้น กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องมี 5 ประเทศขึ้นไปให้สัตยาบัน หมายความว่า 6 ประเทศและบวกกับประเทศกลุ่มคู่เจรจาอีก 5 ประเทศ หรืออย่างน้อย 3 ประเทศ จึงจะมีผลบังคับใช้ได้ หมายความว่า อย่างน้อยต้องเป็นประเทศอาเซียน 6 เสียง และคู่เจรจาอีก 3 ประเทศ รวมเป็น 9 ประเทศ ถ้าได้แล้วก็ไม่ต้องรอประเทศที่เหลือ สามารถมีผลบังคับใช้ได้ เหตุผลที่ผมเร่งรัด เพราะอาร์เซ็ป จะเป็นประโยชน์มากต่อการค้าและการลงทุนของไทย ช่วยให้มีตลาดการค้าการลงทุนใหญ่ขึ้น รวมทั้งมีเงื่อนไขการผ่อนปรนมากขึ้น การส่งออกสินค้าไป 14 ประเทศ ก็จะทำให้ภาษีเป็นศูนย์ ทำให้การแข่งขันของเราเป็นไปตามระยะเวลาตามเงื่อนไขที่กำหนด ถือเป็นการสร้างแต้มต่อให้กับไทย สิ่งสำคัญ ภาคเอกชนเอง ก็ต้องเร่งเตรียมตัวและเร่งศึกษากฎระเบียบทั้งหมด” นายจุรินทร์ กล่าว...
...