รัฐบาลลุงตู่ประกาศในหลายวาระว่าจะส่งเสริมให้เกิดเมืองอัจฉริยะ (smart city) ในหลายพื้นที่หลายจังหวัด เช่น เมืองอัจฉริยะภูเก็ต แต่ส่วนใหญ่เป็นโครงการเมืองอัจฉริยะหลอกๆ เพิ่งจะมีของจริงก็ที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เป็นแห่งแรก เปรียบเหมือนซิลิคอนวัลเลย์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เลยทีเดียว
วังจันทร์วัลเลย์เป็นเมืองอัจฉริยะแห่งเดียวที่ใช้ smart ทั้ง 7 ด้านตามข้อกำหนดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ได้แก่ 1.Smart Environment สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ เช่น ระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ การปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์ 2.Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ เช่น พลังงานสะอาดจากโซลาร์ฟาร์ม รถโดยสารพลังงานสะอาด 3.Smart People พลเมืองอัจฉริยะ เช่น มีห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ มีโดรนสังเกตการณ์
4.Smart Governance การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ เช่นสมาร์ทการ์ด วันสต็อปเซอร์วิส และการให้ประชาชนมีส่วนร่วม 5.Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ เช่น มี 5G และ WiFi6 มีระบบวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และมีสถานทดสอบนวัตกรรมสมัยใหม่ 6.Smart Mobility การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ มีเครื่องชาร์จรถไฟฟ้า มีที่จอดรถอัจฉริยะ มีระบบติดตามตำแหน่งรถโดยสาร มีทางวิ่งและทางจักรยานแยกอิสระ 7.Smart Living การดำรงชีวิตอัจฉริยะ เช่น มีเสาสัญญาณ อัจฉริยะ มีระบบจัดการความปลอดภัย มีแอปพลิเคชันอัจฉริยะ
โครงการวังจันทร์วัลเลย์เป็นโครงการที่กลุ่ม ปตท.พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) พื้นที่ทั้งหมด 3,454 ไร่ ในส่วนที่เป็นพื้นที่พัฒนาจะประกอบด้วยเป็นพื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone) พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) และพื้นที่พักอาศัยและสันทนาการ (Community Zone)
...
เมืองอัจฉริยะแห่งนี้มีเสถียรภาพทางด้านโครงสร้างพื้นฐานหลัก 3 ประการ คือ 1.การบริหารจัดการน้ำ ขุดบ่อ 80 ไร่ กักเก็บน้ำได้ 4 แสนลบ.ม. และจัดหาแหล่งน้ำดิบเพียงพอสำหรับ น้ำประปา 2.การบริหารจัดการพลังงาน มีโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟ เพื่อในอนาคตจะไม่ใช้พลังงานฟอสซิลเลย 3.การบริหารจัดการระบบโทรคมนาคม มีระบบ 5G จากทุกค่าย และมีการพัฒนา use case อย่างต่อเนื่อง
ทีมงานของ ปตท.มีความทุ่มเทและมีวินัยอย่างมากที่สามารถสร้างเมืองนี้ได้ทันตามกำหนด (ทั้งๆที่มีภาวะโรคระบาดโควิดทั่วโลก และมีพายุเข้าไทยมาติดๆกัน ในขณะที่โครงการก่อสร้างอื่นๆในประเทศสร้างล่าช้ากว่าแผนแทบทั้งสิ้น) ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดศูนย์ความร่วมมืองานวิจัยและพัฒนาฯ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา
โครงการนี้ ปตท.ใช้งบลงทุนไปกว่า 3 พันล้านบาท ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน น้ำ ไฟฟ้า โทรคมนาคม ไม่รวมค่าที่ดิน ซึ่งไม่มีหน่วยงานไหนหรือแลนด์ลอร์ดเจ้าไหนกล้าลงทุน เพราะผลตอบแทนการลงทุนมีน้อยมาก พื้นที่สีเขียวมีถึง 60% ส่วนพื้นที่พัฒนามีแค่ 40% เท่ากับว่าจะสามารถเก็บผลประโยชน์จากค่าใช้เช่า หรือขายพื้นที่พัฒนาได้แค่เพียง 40% แต่จนถึงขณะนี้ก็แทบไม่มีใครติดต่อขอซื้อหรือเช่าพื้นที่เลย
กว่าจะสร้างเมืองอัจฉริยะได้สักแห่งต้องลงทุนไปมหาศาลก็หวังว่าการลงทุนครั้งนี้จะไม่สูญเปล่า ที่สำคัญรัฐบาลต้องส่งเสริมให้อีอีซีเกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นเร็ว ถ้าปล่อยให้พื้นที่ว่าง ไม่มีผู้เช่า เดี๋ยวจะกลายเป็นเมืองร้าง สูญเงินโดยเปล่าประโยชน์.
ลมกรด