ก.สาธารณสุข แจงละเอียดเสนอลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน ติดตามอาการต่ออีก 4 วัน นำร่องประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำ รอ ศบค. ให้ความเห็นชอบ
วันที่ 6 พ.ย. 2563 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข เรื่องข้อเสนอการลดวันกักตัวผู้เดินทางจากประเทศที่มีความเสี่ยงโรคโควิด-19 ต่ำหรือใกล้เคียงกับประเทศไทย จาก 14 วันเหลือ 10 วัน ว่า อยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ โดยผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 และที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563
ทั้งนี้ มีข้อมูลประกอบการพิจารณาคือ ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดตรวจพบเชื้อภายใน 10 วัน การพบเชื้อหลัง 10 วัน ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ มีโอกาสแพร่เชื้อต่ำ เช่น กรณีดีเจร้านอาหาร หรือหญิงชาวฝรั่งเศส ซึ่งไม่พบผู้สัมผัสติดเชื้อเพิ่ม ขณะที่ข้อมูลล่าสุดพบว่า ระยะการกักตัว 10 วัน และ 14 วัน มีความเสี่ยงไม่ต่างกัน และเมื่อออกจากที่กักกันโรค จะใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การจัดระบบระบายอากาศ และมีระบบติดตามตัวทุกคน เพื่อรายงานอาการป่วย
...
ทางด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า การลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน จะเริ่มจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยประเมินความเสี่ยงของประเทศต้นทางเปรียบเทียบกับประเทศไทย (Relative Risk Country) ซึ่งประเทศที่ความเสี่ยงใกล้เคียงกับไทย เช่น จีน มาเก๊า อัตราการติดเชื้อ 60 ต่อประชากร 1 ล้านคน ประเทศที่ความเสี่ยงน้อยกว่าประเทศไทย เช่น ไต้หวัน เวียดนาม มีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่า 60 ต่อประชากร 1 ล้านคน ถ้ามีต่างชาติจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำเข้ามาในไทย 1 ล้านคน การตรวจ RT-PCR ก่อนการเดินทางจะช่วยลดความเสี่ยงประมาณ 50% เมื่อกักตัว 14 วัน มีโอกาสเสี่ยงหลุดรอดหลังจากถูกกักกัน 0.3 คน ขณะที่การกักตัว 10 วันมีโอกาสเสี่ยงหลุดรอดหลังจากถูกกักกัน 1.5 คน และจากการเก็บข้อมูลผลการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ในกลุ่มผู้เดินทางจากประเทศซูดานใต้ จำนวน 77 คน พบผู้ติดเชื้อ 17 คน โดยทั้งหมดตรวจพบในช่วงวันที่ 0-9 ของการกักตัว และพบการติดเชื้อภายใน 7 วันแรกของการกักตัวถึง 15 ราย ดังนั้น การกักกันโรค 10 วัน จึงมีความเพียงพอ
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงต่ำ จะต้องยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวประเภทพิเศษและการพำนักในประเทศไทย (Special Tourist Visa : STV2) โดยต้องยื่นเอกสารขอรับวีซ่าที่สถานทูตไทยในประเทศต้นทาง ยื่นเอกสารยืนยันก่อนการเดินทาง ได้แก่ ใบรับรองตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง ใบ Fit to Fly ใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศไทย ประกันวงเงิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ และการจองที่พักโรงแรมที่เป็นสถานกักกันที่รัฐกำหนด (Alternative Stare Quarantine : ASQ)
จากนั้นเมื่อถึงประเทศไทยจะเข้าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ดำเนินการตรวจวัดอุณหภูมิ หากพบว่ามีไข้หรืออาการตามนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค จะแยกกักเพื่อสอบสวนโรค นำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อ หากไม่มีไข้หลังผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง จะส่งเข้ารับการกักกันใน ASQ ทำการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง และตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกัน 2 ครั้ง คือ วันแรกที่เข้าโรงแรม วันที่ 5 และ 9 ของการกักตัว หากผลเป็นบวกจะนำส่งรักษากับโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญา หากผลเป็นลบในวันที่ 10 จะประเมินและตรวจเอกสารก่อนอนุญาตให้ออกจากสถานที่กักกันในวันที่ 11 หลังออกจากสถานกักกันโรคจะต้องติดตั้งแอปพลิเคชันใช้ติดตามตัว และชี้แจงให้นักเดินทางทราบถึงการติดตามอาการต่ออีก 4 วัน โดยจัดทีมสนับสนุนติดตามผู้เดินทางอย่างใกล้ชิด เน้นการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง โดยผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการกักตัวและรักษาพยาบาล คาดว่าจะเริ่มนำร่องใน 1 เดือนข้างหน้า ภายหลังจากที่ ศบค. ให้ความเห็นชอบ.