วันที่ 22 ตุลาคม จะครบกำหนดโครงการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไป คุณรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จะไม่ต่อ โครงการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปแล้ว ทำให้เงินในระบบธนาคารหายไป 2 แสนล้านบาทต่อปี แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ เนื่องจากแต่ละธุรกิจมีการฟื้นตัวไม่เท่ากัน จะให้ความช่วยเหลือต่อไปเป็นรายๆ (Targeted)

จากข้อมูลแบงก์ชาติ วันที่ 31 สิงหาคม มีลูกหนี้ที่เข้าปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ 12.1 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 6.9 ล้านล้านบาท เป็นลูกหนี้เอสเอ็มอี 1.05 ล้านบัญชี มูลหนี้ 1.35 ล้านล้านบาท

ลูกหนี้เอสเอ็มอี 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ลูกหนี้ในส่วนสถาบันการเงินของรัฐ 780,000 บัญชี มูลหนี้ 400,000 ล้านบาท หนี้ในส่วนนี้ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้ออกมาตรการยืดหนี้ให้เพิ่มเติมอีก 3-6 เดือนไปแล้ว ทำให้ไม่มีปัญหาในส่วนนี้ แต่ลูกหนี้เอสเอ็มอีอีก 270,000 บัญชี รวมมูลหนี้ 950,000 ล้านบาท ที่เป็นหนี้กับ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่เป็นนอนแบงก์ ธปท. ได้สั่งให้ติดต่อลูกหนี้ทุกรายเพื่อติดตามสถานะ

จากการติดตามลูกหนี้พบว่า 94% ของลูกหนี้สามารถติดต่อได้ และ ลูกหนี้ส่วนใหญ่กว่า 50% ได้แสดงเจตจำนงจะชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการ ที่เหลือแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ สามารถชำระนี้ได้บางส่วน และ ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ก็คือ เป็น NPL

แต่ มีลูกหนี้อีก 6% ราว 16,000 บัญชี มูลหนี้รวม 57,000 ล้านบาท ที่ ธปท.เป็นห่วงเพราะ เจ้าหนี้หรือแบงก์ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ อาจจะมีการปิดกิจการชั่วคราว หรือย้ายสถานที่ หรือไม่กล้ารับโทร-ศัพท์เพราะกลัวถูกทวงหนี้ ธปท.ขอให้ลูกหนี้ส่วนนี้ติดต่อกลับไปหาเจ้าหนี้โดยด่วน เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ หรือเพื่อเจรจาหาทางแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้กลับมาชำหนี้ได้ โดยให้เวลาในการเจรจากับเจ้าหนี้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

...

หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ในขณะนี้ ธปท.อนุญาตให้เจ้าหนี้พักหนี้ต่อให้ได้อีก 6 เดือน หรือ ให้พักชำระหนี้ต่อไปได้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 รวมทั้งให้มีมาตรการ ลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย หรือปรับโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีอื่นๆ หากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับมา สถาบันการเงินต้องจัดชั้นหนี้ใหม่เป็น NPL หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

คุณรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ ให้เหตุผลว่า หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การฟื้นตัวของธุรกิจในแต่ละสาขาไม่เท่ากัน เช่น ธุรกิจเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า การค้า ฟื้นตัวกลับเข้าใกล้ระดับช่วงก่อนโควิด-19 แต่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะ ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวเพียง 26% ก่อนช่วงโควิด-19 ถ้ายังคงมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไปต่อไป จะส่งผลทางลบในระยะยาวได้ คือ

1.ลูกหนี้ที่พักหนี้จะยังคงมีภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือน ตลอดช่วงการพักหนี้ 2.ไม่ส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงิน เพราะลูกหนี้ไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบไม่มาก อาจอาศัยเป็นช่องทาง ประวิงเวลาการชำระหนี้ 3.ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เพราะการพักหนี้ทั่วไปเป็นเวลานาน จะทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไป 200,000 ล้านบาทต่อปี กระทบความมั่นคงของสถาบันการเงินทั้งระบบ

ใครมีความสามารถชำระหนี้ ก็รีบไปชำระหนี้เสียเถอะครับ หนีไม่พ้นหรอกในยุคนี้ ส่วนที่ไปไม่รอด 6% ก็รีบไปเจรจากับแบงก์ เจ้าหนี้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม ถ้าหนีก็ต้องหนีตลอดไป เพราะถูกขึ้น “บัญชีดำ” แล้ว ไปเปิดบัญชีหรือกู้เงินแบงก์ไหนไม่ได้อีกนะ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”