หายหน้าหายตาไปหลายปี เก็บตัวเงียบไม่ยอมออกมาแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร คมช. เพิ่งจะพูดการเมืองเป็นครั้งแรก ในวันครบรอบวันคล้ายวันเกิด 74 ปี โดยกล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหารรุ่นน้อง

อดีตหัวหน้า คมช. ซึ่งเคยนำกำลังทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 “สอนน้อง” ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ อะไรคือจุดที่ทำให้มองอย่างนั้น เช่น เรื่องความยุติธรรมเป็นอย่างไร กระบวนการยุติธรรมต้องจัดรูปแบบใหม่ ไม่ใช่สองมาตรฐาน และพูดถึงการให้นิรโทษกรรมทางการเมือง

น่าสังเกตว่าวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันครบ 14 ปีของรัฐประหาร และเป็นวันชุมนุมใหญ่ของกลุ่มนักศึกษาประชาชนปลดแอก แต่เมื่อ พล.อ.สนธิ ถูกถามเกี่ยวกับข่าวลือเรื่องรัฐประหาร ได้รับคำตอบว่า ไม่เชื่อว่าจะมีรัฐประหาร เพราะความขัดแย้งในประเทศก็รุนแรงพอแล้ว และไม่ต้องแก้ด้วยรัฐประหาร

นักวิชาการบางคนระบุว่า ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา 88 ปี ประเทศไทยมีรัฐประหารมาแล้ว 18 ครั้ง น่าจะนับรวมทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ แต่คณะรัฐประหารไม่เคยยอมรับ ว่ารัฐประหารเป็นต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้งในสังคมไทย เช่น รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ทำให้นักศึกษาเป็นอันมากหนีเข้าป่า จับอาวุธสู้กับรัฐบาล

รัฐประหารกุมภาพันธ์ 2534 นำไปสู่การลุกฮือต่อต้านการสืบทอดอำนาจ กลายเป็นเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” 2535 ส่วนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. นำสังคมไทยมาสู่ความขัดแย้งอีกครั้ง ดังที่เห็นกันอยู่ขณะนี้ หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจบไม่สวย เนื่องจากบางกลุ่มขัดขวางการผ่าทางตัน ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

...

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นแนวทางสำคัญ ในการใช้ “ความถูกต้อง” แก้ปัญหา นั่นก็คือใช้ความเป็น “ประชาธิปไตย” ตัดสินความถูกหรือผิด เนื่องจากระบบเผด็จการไม่มีมาตรฐานที่เป็นสากล อันเป็นที่ยอมรับในมวลหมู่ผู้เผด็จการทั่วโลก แต่มีเผด็จการหลายรูปแบบ ทั้งเผด็จการแบบฮิตเลอร์ และเผด็จการคอมมิวนิสต์

แต่ประชาธิปไตยมีระบบที่เป็น “สากล” ชัดเจน และยอมรับกันในนานาอารยประเทศประชาธิปไตย เกือบ 200 ประเทศทั่วโลก ไม่มีประชาธิปไตยแบบพม่าหรือประชาธิปไตยแบบไทยๆ เพราะประชาธิปไตยที่พูดถึงก็คือ “เผด็จการครึ่งใบ” หรือ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้ที่ทั่วโลกยอมรับ.