"เศรษฐพงค์" แนะสร้างท่าอวกาศยานในไทย ชี้พื้นที่ประเทศไทยเหมาะสม-มีความได้เปรียบ มั่นใจทำเศรษฐกิจโตหลายภาคส่วน เกิดนวัตกรรมใหม่ เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี
เมื่อวันที่ 27 ก.ย.63 พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดการสร้าง Space port หรือ ท่าอวกาศยานในประเทศไทยว่า การสร้างท่าอวกาศยาน มีอยู่ 2 รูปแบบ คือการส่งยานขึ้นไปในแนวดิ่งด้วยความเร็วสูง ซึ่งหากจะส่งคนขึ้นไปต้องมีการฝึกอย่างเข้มงวด และใช้ในการการขนส่งสิ่งของ และอีกรูปแบบคือ การบินไต่ระดับแบบเครื่องบิน ซึ่งรูปแบบนี้สามารถส่งคนไปท่องเที่ยวได้ ส่วนการสร้าง Space port ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะมีความได้เปรียบจากการสร้างและสร้างได้ เพราะหลักของการสร้างนั้น พื้นที่จะต้องใกล้เส้นศูนย์สูตร เพราะจะใช้เชื้อเพลิงน้อยในการเข้าสู่วงโคจร และจะต้องไม่มีภัยพิบัติรุนแรงที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งยานอวกาศขึ้นไป มีพื้นที่ห่างจากเพื่อนบ้าน มีมุมยิงขึ้นไปได้เยอะ โดยเฉพาะต้องเป็นพื้นที่ติดทะเล เพราะจะมีส่วนของจรวดตกลงมา รวมทั้งเรื่องความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน การกำหนดนโยบายอวกาศได้รวมถึงการควบคุมพื้นที่และการเข้าถึงได้ ซึ่งจากข้อจำกัดเหล่านี้ประเทศไทยถือว่ามีความเหมาะสมมาก เพราะเรามีคุณสมบัติตามที่ว่ามาทั้งหมด
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า หากเรามีการสร้าง Space port ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ คือ เกิดการลงทุนต่อเนื่องจากภาครัฐในการก่อสร้าง ที่จะกระจายรายได้ให้แก่ อุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น การก่อสร้าง การบิน เครื่องจักร ตลอดจนแรงงาน และ SME ขนาดย่อมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศระยะยาว เรียกว่า Space economy เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน ทำให้รัฐไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าภาพอยู่รายเดียว เกิดการแข่งขันทางธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศ เมื่อพัฒนาเสร็จแล้วจะเกิดอุตสาหกรรมอีกหลายอย่างตามมา เช่น การท่องเที่ยว อิเล็กทรอนิกส์ จรวดและดาวเทียม รวมถึงการให้เช่าพื้นที่จากต่างชาติ และจะทำให้ประชาชนและเยาวชนมีแรงบันดาลใจในการศึกษาด้านอวกาศด้วย
...
"หากมีการสร้าง Space port ขึ้นในประเทศไทย นอกจากจะเกิดการลงทุน เศรษฐกิจเติบโตจากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ และการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศแล้ว การจ้างงานจะมีมากขึ้น เกิดสาขาเรียนใหม่ๆ เด็กรุ่นใหม่ จะมีแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ และจะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำอวกาศในเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงการความมั่นคงด้านอวกาศ แต่ทั้งนี้เราจะต้องมีการวางนโยบายที่เป็นรูปธรรม และต้องแสดงให้นานาชาติเห็นว่าเราทำเพื่อยกระดับประเทศและเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพื่อเพิ่มกำลังทางทหาร และรัฐบาลต้องจัดตั้งองค์กรอวกาศแห่งชาติเพื่อเข้ามากำกับและบริหารงานอย่างเร่งด่วน" พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว.