คมนาคม ผนึกเกษตรฯ ลุย “นครพนม-บึงกาฬ-เลย” เปิดโครงการนำน้ำยางมาใช้ปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตและหลักนำทางยางธรรมชาติ โว ช่วยสร้างรายได้เกษตรกร
วันที่ 25 ก.ย. 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Of) บริเวณทางหลวงหมายเลข 2033 ตอนคำพอก-หนองญาติ กิโลเมตรที่ 55+425-55+575 ต.หนองญาติ อ.เมืองนครพนม ว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 รับทราบแนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยฃ โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ โดยมีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องอุปกรณ์ทางด้าน การจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงาน สังกัดกระทรวงคมนาคม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของโครงการนี้ และมีผลศึกษาและทดสอบชัดเจนว่าสามารถช่วยลดแรงปะทะที่เกิดจากการชน ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งมีสัดส่วนการใช้น้ำยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมาก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท
“ราคายางก้อนถ้วยในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาขึ้นสูงถึง 37.10 บาทต่อกิโลกรัม จากช่วงกลางเดือน ส.ค. ที่เปิดตัวโครงการ ในการลงนามข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วงนั้นยางก้อนถ้วยราคาประมาณ 32 บาทต่อกิโลกรัม โดยการนำมาใช้ในการผลิตแผ่นยางพาราคลุมแท่งแบริเออร์ทุก 1 เมตร ใช้ยาง 28 กิโลกรัม โดยมีราคาขายที่ 3,400 บาท ดังนั้นเป็นการเพิ่มมูลค่า ยางพารา ได้ถึง 121 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการยกระดับยางพาราก้อนถ้วยไปทั้งระบบอีกด้วย”
...
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า โครงการในครั้งนี้จะได้ไปศึกษากระบวนการผลิตอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน ด้วยการใช้ยางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นผลผลิตของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่นิยมทำกันมากกว่า 55% ของเกษตรกรชาวสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เนื่องจากยางก้อนถ้วยผลิตง่ายและไม่ต้องใช้เงินลงทุนและแรงงานจำนวนมาก และเมื่อนำยางก้อนถ้วยมาใช้ในโครงการฯ จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรงในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรสวนยางทำให้มีรายได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต เป็นการสร้างเสถียรภาพด้านราคายางพาราในประเทศให้มากขึ้น โดยกำหนดการเปิดโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ประกอบไปด้วย วันนี้ที่ จ.นครพนม จากนั้น 26 ก.ย. 2563 จ.บึงกาฬ และ จ.เลย ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 จังหวัดมีการปลูกยางพารามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากที่ก่อนหน้านี้ได้ไปเปิดโครงการที่ จ.จันทบุรี และ จ.สตูล มาแล้ว
ทางด้าน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่กำกับคุณภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งคัดเลือกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่กระทรวงรับรองให้เข้าร่วมโครงการ ทั้งยังสนับสนุนจัดเตรียมเครื่องมือและวัตถุดิบให้เป็นไปตามรูปแบบ มาตรฐาน และราคาตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนด
ขณะที่ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ระบุ ก่อนนำมาใช้งานจริงได้ทดสอบทั้งในประเทศไทยและเกาหลีใต้แล้ว โดยใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์วิ่งเข้าชนเพื่อวัดแรงปะทะ ผลการทดสอบพบว่าผู้ขับขี่ได้รับค่าแรงกระแทกน้อยกว่าค่ามาตรฐาน สามารถลดอัตราความรุนแรงที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ได้กำหนดแผนการดำเนินโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2553-2565 มีปริมาณการใช้ยางพารา 1,007,951 ตัน และจะนำ 2 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ติดตั้งบนถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ระยะทางรวม 12,282 กิโลเมตร คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ 30,108 ล้านบาท และจะมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อเปลี่ยนแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติทดแทนที่เสื่อมสภาพ หรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ยางพาราในทุกๆ ปี ปีละไม่น้อยกว่า 336,000 ตัน.