“ประชามติ” กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงข่าวเล็กๆ แต่ได้รับความสนใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่ กกต.เสนอนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าหากมีการจัดทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณครั้งละ 4-5 พันล้าน

แม้นายกรัฐมนตรีจะบอกนักข่าวว่า “ผมไม่ได้ว่าอะไร ผมเล่าให้ฟังเฉยๆ อย่าหาว่าผมไม่สนับสนุนก็แล้วกัน” แต่เมื่อพูดในขณะที่กำลังเดินหน้า เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำบอกเล่าของนายกรัฐมนตรีจึงเป็นเสมือนคำเตือน ให้ทุกฝ่ายบันยะบันยังหน่อย เพราะอาจต้องใช้เงินนับหมื่นล้านบาท ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤติรุนแรง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

ร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ไม่ใช่ร่างกฎหมายเพื่อทำประชามติ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการออกเสียงประชามติทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 เป็นการลงประชามติในเรื่องที่ ครม.เห็นสมควรให้ประชาชนลงประชามติ เช่นรัฐบาลอาจปรึกษาว่าควรยุบสภาหรือไม่

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามปกติไม่ต้องให้ประชาชนลงประชามติ เพิ่งจะมีรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนกันท่าไว้เพื่อไม่ให้แก้ไข หรือให้แก่ไขได้ยากยิ่ง เพราะเป็นฉบับสืบทอดอำนาจให้อยู่นานๆ จึงระบุว่าถ้าจะแก้ไข ม.256 ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ฯลฯ ต้องให้ผ่านประชามติ

แต่ถ้าเป็นการแก้ไขเป็นรายมาตรา น่าจะลงประชามติหนเดียวก็พอ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าต้องทำสองครั้ง เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ คสช.ฉีกทิ้ง การแก้ไขทำได้ง่ายมาก เพียงแต่ใช้เสียงข้างมากของสองสภา ไม่บังคับว่าต้องมี ส.ว.เท่านั้นเท่านี้ รัฐบาลอภิสิทธิ์เคยแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนั้นนับสิบๆมาตรา โดยไม่มีปัญหาใดๆ

...

พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่นายกรัฐมนตรีพูดถึง สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ คสช.แต่งตั้ง เคยออกกฎหมายนี้เมื่อปี 2559 เพื่อลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ฝ่ายที่เห็นต่างหรือฝ่ายค้านถูกปิดปาก ห้ามรณรงค์คัดค้านด้วยข้อความก้าวร้าวปลุกระดม หรือหยาบคาย นักกิจกรรมการเมืองที่ออกมาคัดค้านถูกจับกุม ดำเนินคดีหลายสิบ

แต่ขณะเดียวกัน รัฐไม่ได้ห้ามกองเชียร์ที่จะเดินทางลงพื้นที่เพื่อชี้แจงหรือโฆษณาสรรพคุณของร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชน สดุดีว่าเป็น “ฉบับปราบโกง” กองเชียร์เป็นฝ่ายชนะ และยังมีการนำมาโฆษณากล่าวอ้าง จนถึงปัจจุบัน ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติกว่า 16 ล้านเสียง (จากเกือบ 40 ล้าน) จึงไม่ควรแก้ไข.