ข้อพิพาทคิงส์เกต-รัฐบาลไทย ในมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอีกคนหนึ่ง นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธรรมไทย และอดีต รมช.อุตสาหกรรม บอกว่า ปี 2544 เป็นปีที่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ได้รับอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ จ.พิจิตร ครอบคลุม 3 จังหวัด พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์

ใบประทานบัตรเหมือง “ชาตรีเหนือ” หมดอายุปี 2571

ใบประทานบัตรเหมือง “ชาตรีใต้” หมดอายุปี 2563

เดินเครื่องทำเหมืองได้ถึงปี 2551 บริษัทอัครา ขอขยายพื้นที่สร้างบ่อเก็บกักแร่แห่งที่2 แต่ไม่ผ่านรายงานผลกระทบวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการสร้างบ่อเก็บกักแร่แห่งที่ 2 โดยยังไม่ได้รับอนุญาตและผิดวัตถุประสงค์การขออนุญาตในการใช้พื้นที่

สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

กระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมือง แหล่งน้ำมีสารโลหะหนักปนเปื้อน ชาวบ้านเริ่มมีอาการแพ้ เดือดร้อนจำเป็นต้องเดินสายร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลกให้ระงับใบประทานบัตรเหมืองชาตรี ศาลปกครองมีคำพิพากษา หนึ่งในนั้นคือให้บริษัทอัคราระงับการประกอบโลหกรรมในพื้นที่ ห้ามออกใบอนุญาตขยายโรงงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบชั่วคราว เนื่องจากผลสุ่มตรวจเลือดชาวบ้านในเขตเหมืองชาตรีราว 600 คน

พบชาวบ้านราว 300 คนมีค่าโลหะหนัก ทั้งแมงกานีส สารหนู เกินมาตรฐาน

ทำให้เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบบุกทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐบาล คสช. นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

อำนาจพิเศษสั่งปิดเหมืองทอง 1 ม.ค.2560

บริษัทแม่คิงส์เกตขยับออกแถลงการณ์ ขอให้ยกเลิกคำสั่งปิดเหมืองทอง พร้อมยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย

...

ขอให้ถอน “คดีสินบนข้ามชาติ” ที่กำลังสอบสวนอยู่

ถอนคดีในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ซึ่งดีเอสไอกำลังพิจารณากรณีเหมืองอัคราถูกกล่าวหามีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ทางหลวง หลังเข้าไปยึดถือครอบครองพื้นที่ป่า รุกล้ำเขตพื้นที่ทางหลวง โดยเหตุเกิดบริเวณ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และ ต.ท้ายดง
อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์

รวมถึงขอให้ชดเชยความเสียหายตลอดเวลาที่ถูกปิด

ให้ยืนยันหากคิงส์เกตลงทุนต่อ ต้องไม่ถูกสั่งปิดอีกโดยไร้ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

เมื่อประเมินตัวเลขการเสียโอกาสของเหมืองอัครา วัดจากปริมาณสำรองแร่ทอง890,000ออนซ์ มูลค่า 37,000 ล้านบาท แร่เงิน 8.3 ล้านออนซ์ มูลค่า 3,984 ล้านบาท นำไปผลิตได้เกือบ 10 ปี มูลค่ากว่า 41,000 ล้านบาท

รัฐบาลไทยไม่ปฏิบัติตามและไม่จ่ายค่าชดเชย

ขณะเดียวกัน บริษัทประกันภัยยอมจ่ายค่าชดเชย “ความเสียหายทางการเมือง”82 ล้านดอลลาร์แก่บริษัทคิงส์เกตจาก 200 ล้านดอลลาร์ สะท้อนให้เห็นว่าสมมติรัฐบาลไทยต้องจ่ายค่าชดใช้ ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ในการจ่ายเช่นกัน

ทั้งหมดชี้ให้เห็นลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้เหมืองทองมีส่วนช่วยสร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ แต่ถ้าผู้ถือประทานบัตรไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย

ไม่รักษาดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

รัฐไทยต้องเดินหน้าต่อสู้คดี ป้องกันต่างชาติหรือผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปมาตักตวงผลประโยชน์ของชาติ

ที่สำคัญได้แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างมวลชนที่สนับสนุน เพราะต้องการทำงานในเหมืองแร่

กับมวลชนที่คัดค้าน เพราะได้รับผลกระทบ เจ็บป่วยหลังตรวจเลือดพบโลหะหนักเกินมาตรฐาน

ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลไปแก้ต่างต่อคณะอนุญาโตตุลาการ สู่กระบวนการเบิกความต่อคณะอนุญาโตฯที่สำนักงานฮ่องกง

เหตุผลเหล่านี้เป็นที่มาผมอภิปรายสนับสนุนการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 สำหรับคดีนี้โดยตรง รวมถึงสนับสนุนการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 สำหรับคดีนี้ด้วย แม้มีเพื่อน ส.ส.หลายคนคัดค้าน ถือเป็นสิทธิที่ทำได้และเพื่อความรอบคอบในการตั้งงบประมาณ

ที่สำคัญปมนี้เกี่ยวข้องกับสินบนข้ามชาติ

ทั่วโลกไม่ให้การสนับสนุน

ล่าสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ส่งข้อมูลและหลักฐานที่ได้รับจาก ก.ล.ต.ออสเตรเลีย

ปมอันมีเหตุควรสงสัยระดับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง 2 คน ถูกกล่าวหาเรียกรับผลประโยชน์ เพื่อให้บริษัทเอกชนได้ประโยชน์ในการสำรวจเหมืองแร่โดยมิชอบ จนกรรมการ ป.ป.ช.บางท่านระบุว่า...

...เป็นคดีระหว่างประเทศ มีความซับซ้อน แยบยล

แยกเป็นปมติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ

ปมปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยปมติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ มีข้อมูลจากอีเมลพบมีเส้นทางการเงินเข้ามา พักเงินที่ฮ่องกงและสิงคโปร์

ขณะปมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว

ข้าราชการระดับสูงกับพวกโดนชี้มูลความผิด ทั้งการเปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่โดยไม่ชอบ เอื้อให้บริษัทเอกชน

การย้ายตำแหน่งที่ตั้งบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของอีไอเอ

การกระทำโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเปลี่ยนแปลงขนาดบ่อกักเก็บกากแร่ใหญ่กว่าเดิม ย่อมมีผลต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านในพื้นที่

บ่อทิ้งกากแร่ มีทั้งสารเคมีต่างๆ ไซยาไนด์

ฉะนั้น การใช้มาตรา 44 สั่งปิดถือว่าถูกต้อง โดยไม่ได้ปิดประตูตาย แต่เปิดประตูแง้มให้เหมืองอัคราสามารถปรับปรุงฟื้นฟู ต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อย

และยังมี พ.ร.บ.แร่ 2560 ออกตามมาอีกทำให้การบริหารจัดการแร่ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ ตีกรอบการดูแลสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชนชนิดเข้มข้น

เชื่อมั่นเขาคิดหนักหากขอเปิดเหมืองทองต่อ

และขณะนี้มีประชาชนหลายจังหวัดยื่นเรื่องคัดค้านเปิดเหมืองแร่ ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการออกประทานบัตรเหมืองแร่และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง สภาผู้แทนราษฎร

กลัวมีผลกระทบเหมือนเหมืองอัครา

ต่อไปการอนุญาตใบประทานบัตรเหมืองคงยากขึ้น เพราะการขอใบประทานบัตรทุกประเภทมีขั้นมีตอน เน้นการกระจายอำนาจ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม หัวใจคือรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลคนในชุมชน

ผู้ถือประทานบัตรต้องวางหลักประกัน “ฟื้นฟูที่ผ่านการทำเหมือง” และ “ค่าเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง” นับจากวันนี้ผู้ถือประทานบัตรทุกรายต้องเดินตามกฎหมาย

มีโอกาสชนะคดีในชั้นคณะอนุญาโตฯแค่ไหน นายพิเชษฐ บอกว่า วันนี้ยังไม่แพ้ คงต่อสู้ในชั้นนี้อีกนาน

แต่ฝ่ายไทยกุมความลับสินบนข้ามชาติอยู่ไม่น้อย

รัฐบาลต้องสู้รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไทย

เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและชีวิตของชาวบ้านตาดำๆ.


ทีมการเมือง