นายกฯ ย้ำ รัฐบาล ตระหนักสิทธิมนุษยชน ลั่น ท่ามกลางวิกฤตินี้ ไทยต้องรอด เข้มแข็งในวันหน้า ยึดหลักการทำงานแบบ win-win ระบอบพหุภาคี พร้อมรับฟังความเห็นของเยาวชน
วันที่ 31 ส.ค. ที่ห้องเอสแคป ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กทม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดงานสัมมนา Global Compact Network Thailand และกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “วิถีคิดผู้นำในสถานการณ์วิกฤติ ประสบการณ์จากสถานการณ์ โควิด-19” ในงานสัมมนา “วิถีคิดผู้นำสู่ความยั่งยืนภายใต้ชีวิตวิถีใหม่” ในโอกาสการฉลองครบรอบ 20 ปี การจัดตั้งโกลบอลคอมแพ็ก ภายใต้สหประชาชาติว่า ตนตระหนักดีว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของสังคมและธุรกิจ” การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญและปฏิบัติ รัฐบาลของตนจึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมุ่งหวังแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว และภูมิใจที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan: NAP) เมื่อปี 2562 บน 3 เสาหลัก คือ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา ตนหวังอย่างยิ่งว่า ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและสังคมไทย ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
...
นายกฯ กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นวิกฤติระดับโลก เราไม่เคยประสบวิกฤตการณ์ที่รุนแรงเช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง เราต้องปรับตัวทั้งในการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจให้เป็นไปในรูปแบบ “New Normal” หรือ “วิถีปกติใหม่” ต้องผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมวางอนาคตประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลจัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” เพื่อทำหน้าที่ ติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือเยียวยา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาประชาชนระดับพื้นที่ และจะเปิดให้มีประเมินผลงานภาครัฐ โดยผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ตัวจริง เพื่อกำจัดสิ่งที่ทำแล้วไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนออกไปให้ได้มากที่สุด และจะกำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วน ทุกคนในรัฐบาล และทีมงานข้าราชการทุกกระทรวงฯ จึงพยายามทำงานอย่างสุดความสามารถเพื่อดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคนให้ดีที่สุด และวิกฤตการณ์โควิด-19 ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่มี “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งจากภายในและฐานราก ทุกภาคส่วนจะต้องรวมพลังกันเพื่อ “รวมไทยสร้างชาติ” ท่ามกลางวิกฤตินี้ “เราจะต้องรอด และวันหน้า เราต้องเข็มแข็งกว่าเดิม” พวกเราคนไทยจะฝ่าฟันไปด้วยกัน รวมถึงได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากมิตรประเทศ
รัฐบาลไทยกำลังขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “Bio-Circular-Green Economy” หรือ “BCG” คือ เรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มีแนวทางสำคัญ คือ “การน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน” “สร้างความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมไทยสู่โลก” และ “เดินหน้าไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนอย่างน้อย 5 มิติ ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางพลังงาน หลักประกันการมีงานทำ และความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่ทำให้มั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วภายหลังวิกฤติโควิด-19 คือ ความร่วมแรงร่วมใจอย่างเป็นหนึ่งเดียวของคนไทยทุกคน ความร่วมมืออย่างดียิ่งจากมิตรประเทศ และองค์ความรู้และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้ ภายใต้การดำเนินการตามมาตรการทั้งหมดของไทย ทำให้ไทยได้รับคำชื่นชมจากสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก รวมถึงได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ ว่าสามารถบริหารจัดการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดและฟื้นตัวจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
นายกฯ กล่าวว่า ตนขอใช้โอกาสนี้ยืนยันว่า ไทยยึดมั่นในระบบพหุภาคี หลักค่านิยมสากล และการส่งเสริมความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ
สิ่งที่พูดมาวันนี้ ทุกอย่างก็ครอบคลุมนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูประเทศให้กลับมาดีกว่าเดิม ประเด็นสำคัญหลักๆ ที่เน้นย้ำ มี 2 อย่างที่กล่าวไป คือ “การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และ “การระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนประเทศ” การพัฒนาของเราจะครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำงานแบบ win-win ยึดมั่นในระบอบพหุภาคี และความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ
นายกฯ กล่าวต่อว่า เมื่อเราเริ่มทำงานในแบบใหม่ๆ อาจจะมีเสียงคัดค้าน หรือมีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น ตนพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกคน โดยเฉพาะเยาวชน เพราะตนเชื่อมั่นว่า เราต่างมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทางที่ดีขึ้น ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน คนไทยทุกคนร่วมภารกิจ “รวมไทยสร้างชาติ” ไปพร้อมๆ กัน ผมมั่นใจว่า วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยของเรายิ่งแข็งแกร่ง มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นกว่าเดิม และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนประชาคมโลกเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราทุกคน ทั้งคนไทย ประเทศไทย และทุกประเทศทั่วโลก จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน คิดใหม่ ทำใหม่ สร้างสรรค์วิธีการทำงาน และวิถีชีวิตแบบใหม่ เพื่อที่เราจะสามารถก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน
จากนั้น นายกฯ ร่วมเป็นสักขีพยานการประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ให้คำมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้วิถีใหม่