โครงการก่อสร้างทางยกระดับเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในอดีต ที่เรียกว่า โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขต กทม. หรือ โครงการโฮปเวลล์ กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนยาวนานกว่า 20 ปี ที่กำลังจะสร้างปัญหาให้กับประเทศไทยในขณะนี้ โดยรัฐจะต้องจ่ายค่าโง่ถึง 2.5 หมื่นล้านบาท
ก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาข้อพิพาทกับ ทางด่วนพิเศษ ที่เราต้องยอม ต่ออายุสัมปทานฟรีๆไปอีกนับสิบปี โครงการรถและเรือดับเพลิง กทม.ก็ทยอยจ่ายไปแล้ว ยังมีโครงการที่จ่อรอเก็บค่าโง่จากรัฐบาลอีกหลายโง่ อาทิ โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ที่ถูกยกเลิกสัมปทานไปก่อนกำหนด
เป็นที่น่าสังเกตว่า หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้บ้างเลยหรือว่า รัฐจะต้องเสียค่าโง่ ผู้บริหารมีแนวทางในการแก้ไขหรือสู้คดีอย่างไรบ้าง มีแต่ข้อแนะนำให้ยอมเสียค่าโง่ ให้กับภาคเอกชน โดยเป็นเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งนั้น เรื่องการเสียค่าโง่ไม่เลือกเวลาว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ด้วยซ้ำ
จนกระทั่งเกิดวิกฤติงบประมาณประเทศเรื่องทุกอย่างโอละพ่อ เพราะรัฐเองก็ไม่รู้จะไปเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าโง่ให้กับเอกชน เป็นไปได้หรือไม่ว่า การเสียค่าโง่ก็ดี การเสียเงินชดเชยก็ดี เป็นการชงเองกินเอง ระหว่างหน่วยงานรัฐกับเอกชนที่สมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
มีหลายคดีที่ต้องจับตามีทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ อาทิล่าสุด การจ่ายเงินชดเชย 2,600 ล้านบาท ระหว่าง อสมท กับเอกชน เป็นต้น มีความพยายามที่จะไปให้ถึงจุดหมายให้ได้
สถานะการเงินการคลังของประเทศไทย ถูกกัดกร่อน จนใกล้จะล้มละลาย ต้องใช้เงินกู้เพื่อนำมาใช้จ่ายเป็นรายจ่ายประจำ ทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยไม่มีแหล่งรายได้ การส่งออกของประเทศ เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หดตัวลงไป ร้อยละ 23.2 คาดครึ่งปีแรกติดลบร้อยละ 7.1 ครึ่งปีหลังจะหดตัวมากกว่าครึ่งปีแรกจากอุปสงค์อุปทานของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
...
ในขณะที่ ยอดของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก พุ่งสูงขึ้นทุกวัน ที่ล่าสุดทุบสถิติการติดเชื้อรายวันอยู่ที่ประมาณ 2.8 แสนคนต่อวัน จำนวนผู้เสียชีวิตจากข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก อยู่ที่ประมาณ 5,000 รายต่อวัน สหรัฐฯยังครองอันดับ 1 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกินกว่า 4 ล้านรายไปแล้ว
อุตสาหกรรมการบิน รอวันล้มละลาย แอร์บัส ตัดสินใจลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 30 ทันที บริษัทการบินขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ขายหุ้นทิ้ง จนขาดทุนไปหลายพันล้านดอลลาร์ ดีกว่าปล่อยให้ล้มละลาย
เครื่องบินขนาดใหญ่ ที่บรรจุผู้โดยสารได้กว่า 300 ที่นั่งถูกจอดทิ้งบนรันเวย์ทั้งแอร์บัส ทั้งโบอิ้ง สายการบินยักษ์ใหญ่ ตัดสินใจขายเครื่องบินชนิดเลหลังนับร้อยลำเช่นกัน
สายการบินขนาดใหญ่ที่มีสายป่านยาวยังไม่รอด จะไปเอาอะไรกับสายการบินไทย ลดคนเป็นเรื่องจิ๊บๆ ผลที่จะกระทบกับการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว การบริการ และอื่นๆอีกมากมาย จะตามมาอีกบานตะไท
ตายแล้วเกิดใหม่ยังไม่ฟื้น.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th