"สุริยะ" ดัน ครม.ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการผลกระทบ โควิด-19 จำนวน 30,000 ราย กว่า 210 ล้านบาท เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และพยุงภาคอุตสาหกรรมให้มีการประกอบการ และพัฒนาคุณภาพ
เมื่อวันที่ 21 ก.ค.63 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการยกเว้นค่าตรวจสอบโรงงานและค่าตรวจสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ มาตรการผ่อนปรนการอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าที่ สมอ. ควบคุมเป็นการเฉพาะครั้ง มาตรการปรับเปลี่ยนระบบการขอใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเปิดให้บริการยื่นขอใบอนุญาต มอก. ทางออนไลน์
ซึ่งผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ได้ที่ www.tisi.go.th ทั้งการยื่นขอใบอนุญาต มอก. ผ่านระบบ e-License ที่ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอได้ทุกมาตรฐาน จำนวนทั้งสิ้น 2,284 มาตรฐาน และการตรวจติดตามผลผู้ได้รับใบอนุญาตผ่านระบบ e-Surveillance โดยการรับรองตนเอง แทนการออกตรวจติดตามโดยเจ้าหน้าที่ มาตรการอำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการต่อใบอนุญาต โดยการขยายอายุใบรับรองระบบงานจาก 3 ปี เป็น 5 ปี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในการต่อใบอนุญาตในรอบการประเมินรายละ 100,000 บาท
นายสุริยะ กล่าวว่า ล่าสุดวันนี้ ครม. ได้เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ขออนุญาตมาตรฐาน มอก. และขอรับรองระบบงานตามมาตรฐาน ISO โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก. ค่าธรรมเนียมใบรับรองระบบงาน และค่าธรรมเนียมการตรวจสอบโรงงาน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเข้า ครม.เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการกว่า 30,000 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 210 ล้านบาท การดำเนินการดังกล่าวเกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน และพยุงภาคอุตสาหกรรมให้มีการประกอบการ และพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด 19 และการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
...
ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มว่า หลังจากนี้ สมอ. จะเริ่มดำเนินการทันที เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และสร้างบรรยากาศในการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เข้าสู่สภาวะปกติได้ในไม่ช้า ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการยกเว้นจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาติดต่อขอรับบริการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป