เข้าสู่วังวนของการปรับ ครม.หลังจาก 3 รัฐมนตรี คือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมใจกันลาออกจากตำแหน่ง พร้อมนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

มิหนำซ้ำ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นหัวขบวนตัวจริงของกลุ่ม 4 กุมาร ก็แสดงท่าทีที่จะไม่อยู่ใน ครม.ต่อไป

นอกจาก 4 เก้าอี้ที่ว่าแล้วยังมีตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย คงไม่อยู่ต่อแน่ เช่นเดียวกับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือพรรค กปปส.ตัวจริงก็แสดงเจตจำนงในการลาออกทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค และรัฐมนตรีแรงงาน

6 เก้าอี้ที่ว่างค่อนข้างแน่นี้ ที่จริงคงนับได้แค่ 5 เพราะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดจาชัดเจนแต่แรกแล้วว่าการปรับ ครม.ที่จะมีขึ้นนั้นไม่แตะต้องโควตาของพรรคร่วมรัฐบาล

นั่นหมายความว่าเมื่อ หม่อมเต่า ลาออก คนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่ก็ต้องเป็นคนที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เสนอชื่อ ซึ่งได้ยินกันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้วว่าพรรคนี้เสนอ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เจ้าของทฤษฎี สองนคราประชาธิปไตย

ว่าไปแล้ว ทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิและความคิดอ่านที่มีต่อสังคมและประเทศชาติ อาจารย์เอนก มีความเหมาะสมเพียบพร้อมมากกว่านักการเมืองหลายๆคนในพรรคการเมืองใหญ่ที่จับจ้องเก้าอี้ตัวนี้ตาเป็นมัน

อีก 5 เก้าอี้ คือ รองนายกฯ การคลัง พลังงาน การอุดมศึกษาฯ และ การต่างประเทศ นั้น ชัดเจนมาตั้งแต่แรกตั้งรัฐบาลชุดนี้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 แล้วว่า เป็น โควตากลาง ของนายกรัฐมนตรี แถมยังมีอีก 2 กระทรวงคือ รัฐมนตรีกลาโหม และรัฐมนตรีมหาดไทย ด้วย

...

ที่ร่ำร้องเรียกหาแย่งชิงกันอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ขอบอกว่าเปล่าประโยชน์เพราะสังคมตระหนักชัดเจนแล้วว่าพวกเหล่านั้นแย่งชิงกันทำไม แล้วมีหรือที่คนระดับนายกรัฐมนตรีจะไม่รู้ หรือรู้แล้วยังปล่อยให้เกิดขึ้นก็เป็นกรรมของบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม ยังเบาใจที่เห็นชื่อคนบางคนโผล่ออกมาและสังคมรับได้ในชื่อเสียงและผลงานที่ผ่านมาโดยไม่มีคราบไคลของการเมือง ไม่ว่าจะเป็น นายปรีดี ดาวฉาย นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกานต์ ตระกูลฮุน ฯลฯ รวมทั้งชื่อคนที่มีข่าวแต่เจ้าตัวปฏิเสธไปแล้วอย่างเช่น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ถ้าเป็นบ้านอื่นเมืองอื่นตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญในระดับเบอร์สองเบอร์สามของประเทศ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศได้ในเวลาต่อมาก็มีหลายแห่ง

แต่ของเมืองไทยเราดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีใครแย่งชิงจับจองกัน เวลาตั้งก็เลือกสรรมาจากข้าราชการนักการทูตเก่าที่เกษียณอายุแล้วแต่ยังมีพลังอยู่ ซึ่งตั้งแล้วประสบความสำเร็จบ้างไปไม่รอดบ้างมีตัวอย่างทั้งสองด้าน

คราวนี้ก็คงเป็นเช่นกันเมื่อ ท่านทูตดอน ถึงคราวอำลา คนที่อยู่ในข่ายการพิจารณาก็คงเป็นผู้คนในแวดวงการทูตอย่างเช่น นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล อดีตทูตพม่า แคนาดา ปารีส ญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลในยุค คสช.

แต่ชื่อที่มาแรงและมีความเหมาะสมค่อนข้างมากอีกคนคือ นายบรรสาน บุนนาค อดีตอธิบดีกรมพิธีการทูต อดีตทูตพม่า โปแลนด์ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ที่เพิ่งเกษียณเมื่อปี 2562 และมาช่วยงานนายกฯในตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองอยู่ในขณะนี้.

“ซี.12”