งบประมาณเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการอภิปรายเรื่องงบประมาณรายจ่าย 2564 ที่ผ่านมา ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนเปิดโปงว่า มีการเร่ขายโครงการในต่างจังหวัด

เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ก้อน ก้อนแรก 4.5 หมื่นล้านบาท เป็นงบต่อสู้กับไวรัสโดยตรง ก้อนที่สอง 5.55 แสนล้านบาท เป็นงบเพื่อเยียวยากลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก้อนที่สาม 4 แสนล้านบาท เป็นงบเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ที่มีเลขาธิการสภาพัฒน์เป็นประธานดูแล

มีหน่วยราชการต่างๆเสนอ โครงการเพื่อรับการจัดสรรงบประมาณนับหมื่นๆโครงการต้องใช้งบประมาณ กว่าล้านล้านบาท ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้เปิดเผยว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างสายสั้นๆ มีโครงการสร้างงานเพียง 117 โครงการ และโครงการแก้ไขความยากจน 9 โครงการ ทำไมจึงต้องสร้างถนน

กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนท่านหนึ่ง ระบุว่า โครงการเงินกู้ 4 แสนล้านบาท จะต้องตอบโจทย์ใหญ่ที่สุด ต้องเป็นโครงการสร้างคนและสร้างงาน ตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างงานในชุมชนชนบทไว้รองรับคนตกงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ที่คาดว่าอาจมีกว่า 8 ล้านคน

แต่ถ้าโครงการนับหมื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างถนนสายสั้นๆ อาจทำให้น่าสงสัย และสอดคล้องกับข้อกล่าวหาของ ส.ส.ฝ่ายค้านหรือไม่ นั่นคือข้อกล่าวหาที่ว่ามีการ “แบ่งเค้ก” กันให้ ส.ส.คนละ 80 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการในนามของจังหวัด ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาค่าหัวคิวหรือเงินทอนที่เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อๆกันมา

...

แม้ ส.ส.ฝ่ายค้านจะกล่าวหาอย่างชัดแจ้ง ทั้งเรื่องการแบ่งเค้ก ส.ส.และการเร่ขายโครงการในต่างจังหวัด แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล และองค์กรตรวจสอบที่มีอำนาจหน้าที่ คล้ายกับจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพียงแต่ตั้งคณะกรรมาธิการมาตรวจสอบ มี ส.ส.รัฐบาลเป็นประธาน

งบประมาณ 4 แสนล้านบาท ไม่ใช่งบปกติที่มาจากการเก็บภาษีของรัฐบาล แต่เป็นเงินกู้ที่จะต้องชำระคืนทั้งต้นและดอกเบี้ย จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ไม่รู้ว่ากี่สิบปี รัฐบาลจึงต้องใช้จ่ายในโครงการที่เกิดประโยชน์สูงสูดต่อประเทศและประชาชน จะต้องไม่มีการทุจริตโดยเด็ดขาด เพราะเป็น “วาระแห่งชาติ” หรือมิใช่.