นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก แจงยิบ เหตุใดจึงใช้รถไฟฟ้าสายสีทอง ไร้คนขับ แถมวิ่งล้อยาง ปลอดภัยจริงหรือไม่ หลังรถไฟฟ้าสายสีทองขบวนแรก ถูกส่งมาถึงไทย

วันที่ 18 มิ.ย. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “มาแล้ว! รถไฟฟ้าสายสีทอง ทำไมต้องไร้คนขับ-ใช้ล้อยาง?” ว่า รถไฟฟ้าสายสีทองขบวนแรก ถูกส่งมาถึงไทยโดยเรือสัญชาติปานามาชื่อ Seacon Victory ขนขบวนรถไฟฟ้ามาจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 แวะส่งสินค้าอื่นที่ท่าเรือไฮฟอง ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ออกจากท่าเรือไฮฟอง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 มุ่งตรงมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 เวลา 22.00 น. (เร็วกว่ากำหนดการที่ระบุว่า จะมาถึงในวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เวลา 03.00 น.). บนถนนกรุงธนบุรีและถนนเจริญนคร ที่มีรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 1 วิ่งผ่าน มีรถไฟฟ้า 2 แบบ ที่เหมาะสมคือ APM และ Monorail ทั้ง 2 แบบดังกล่าว ไร้คนขับและใช้ล้อยาง แต่ทำไม APM จึงถูกเลือก? แล้ว APM สายสีทองกับ APM ในสนามบินสุวรรณภูมิ ต่างกันอย่างไร?

...

APM (Automated People Mover) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ใช้ล้อยางวิ่งบนพื้นคอนกรีต โดยมีรางเหล็กวางอยู่ตรงกลาง ระหว่างล้อซ้าย-ขวา เพื่อช่วยนำทาง เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อยเนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก APM เป็นที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มาก โดยเฉพาะในสนามบิน เพื่อขนผู้โดยสารเครื่องบินไปมาระหว่างเทอร์มินอลกับเทอร์มินอล หรือระหว่างเทอร์มินอลกับอาคารเทียบเครื่องบินรอง (อาคารรอขึ้นเครื่องบิน) ดังเช่นที่กำลังจะใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อขนผู้โดยสารเครื่องบินระหว่างเทอร์มินอล 1 กับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1

Monorail หรือ รถไฟฟ้ารางเดี่ยว ไม่ใช้คนขับเช่นเดียวกับ APM ใช้ล้อยางวิ่งบนรางคอนกรีตหรือรางเหล็กเพียงรางเดียว เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อย เนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก Monorail เป็นที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มากเช่นเดียวกัน แต่มักนิยมใช้ขนผู้โดยสารไปป้อนให้กับรถไฟฟ้าขนาดหนักที่สามารถขนผู้โดยสารได้มากกว่า พูดได้ว่าใช้ Monorail สำหรับรถไฟฟ้าสายรองเพื่อขนผู้โดยสารไปป้อนให้รถไฟฟ้าสายหลัก ดังเช่นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งเป็น Monorail ที่กำลังก่อสร้างเพื่อขนผู้โดยสารริมถนนลาดพร้าวไปป้อนให้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) ที่สถานีรัชดาภิเษก

อ่านข้อความข้างบนแล้ว หลายคนคงคิดว่า Monorail น่าจะเหมาะสมกับรถไฟฟ้าสายสีทอง เพราะเป็นรถไฟฟ้าสายรอง ที่จะขนผู้โดยสารไปป้อนให้กับรถไฟฟ้าสายหลัก คือ BTS ที่สถานีกรุงธนบุรี แต่อย่างไรก็ตาม APM ได้รับเลือกแทน Monorail เนื่องจากมีต้นทุนถูกกว่า ทั้งเงินลงทุนซื้อขบวนรถไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการเดินรถและบำรุงรักษา หลายคนคงอยากรู้ว่าทั้ง APM และ Monorail ซึ่งไม่ใช้คนขับจะปลอดภัยหรือไม่ และจะดีอย่างไร ขอตอบว่า การไม่ใช้คนขับ แต่ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติจะช่วยลดข้อผิดพลาด หรือข้อบกพร่องที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ (Human Error) ได้ ทำให้มีความปลอดภัยสูง แต่การไม่ใช้คนขับจะทำให้ต้องลงทุนงานระบบควบคุมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวจะช่วยทำให้ค่าใช้จ่ายในการประกอบการเดินรถถูกลง


ทั้ง APM และ Monorail ใช้ล้อยาง ไม่ใช่ล้อเหล็ก เพื่อลดเสียงดังและการสั่นสะเทือนที่สร้างความรำคาญต่อผู้อยู่อาศัยริมทาง มีความนุ่มนวลในการขับขี่ดีกว่า และช่วยให้สามารถเร่งความเร็ว หรือเบรกได้อย่างรวดเร็วในระยะทางสั้นๆ ทำให้ขบวนรถไฟฟ้าสามารถวิ่งต่อเนื่องใกล้ๆ กันได้

APM สายสีทองต่างกับ APM ในสนามบินสุวรรณภูมิ อย่างไร?

APM สายสีทองวิ่งบนทางยกระดับสูงประมาณ 14-17 เมตร ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร รุ่น Bombardier Innovia APM 300 เป็นของแคนาดา แต่ผลิตในจีน ใน 1 ขบวนมี 2 ตู้ ความจุ 137 คน/ตู้ (นั่ง 19 คน ยืน 118 คน) ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลี้ยววงแคบด้วยรัศมีวงเลี้ยว 22 เมตร ไต่ทางลาดชันได้ 10% ราคารถไฟฟ้าประมาณ 200 ล้านบาท/ขบวน

APM ในสนามบินสุวรรณภูมิ วิ่งในอุโมงค์ใต้ดินยาวประมาณ 1 กิโลเมตร รุ่น Siemens Airval เป็นของเยอรมนี แต่ผลิตในออสเตรีย ใน 1 ขบวนมี 2 ตู้ ความจุ 105 คน/ตู้ (นั่ง 8 คน ยืน 97 คน) ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลี้ยววงแคบด้วยรัศมีวงเลี้ยว 30 เมตร ไต่ทางลาดชันได้ 10-12% ราคารถไฟฟ้า 248 ล้านบาท/ขบวน

จะเห็นได้ว่า APM สายสีทอง และ APM ในสนามบินสุวรรณภูมิ มีขีดความสามารถใกล้เคียงกัน จากนี้ไปจึงต้องติดตามดูกันว่า APM จะช่วยสร้างสีสันให้ระบบรถไฟฟ้าในเมืองไทย ได้มากน้อยแค่ไหน