เด็ก พปชร.เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 2563 เพื่อความคล่องตัว และให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด-19 แต่ยังแสดงความเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล

นางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายขอสนับสนุน พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พุทธศักราช 2563 เพื่อที่จะได้ลดอุปสรรคในการทำงานในยุคดิจิทัลและสอดรับกับการทำงานในยุคที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แพร่กระจายอย่างรุนแรงเป็นวงกว้างไปทั่วโลก และมีผู้ติดเชื้อมีผู้เสียชีวิต ซึ่งมาตรการสำคัญหนึ่งในการที่จะป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคนี้คือการเว้นระยะห่างทางสังคม และแน่นอนว่าการใช้มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมยังส่งผลกระทบต่อวิถีของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐภาคเอกชนและภาคส่วนอื่นๆ รวมถึงผลกระทบหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ การที่ภาคส่วนต่างๆ ไม่สามารถที่จะดำเนินงานได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุม การปรึกษาหารือต่างๆ ที่ต้องมีการรวมตัวกันยังไม่สามารถทำได้

ขณะเดียวกัน การดำเนินการด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการพบปะกันนั้น แม้มีกฎหมายรองรับเมื่อปี 2557 ว่าด้วยการประชุมด้วยวิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 74/2557 แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ยังไม่สอดรับกับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น การกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 1 ใน 3 ขององค์ประชุมต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดตั้งอยู่ในราชอาณาจักรหรืออยู่ในประเทศไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุจำเป็นให้การดำเนินงานดังกล่าวของทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนอาจได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และอาจนำไปสู่ผลกระทบถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศได้

...

แต่สำหรับ พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พุทธศักราช 2563 มีจุดเด่นหลักๆ ในหลายประการ ซึ่งโดยผู้ร่วมประชุมไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันหรือในประเทศ รวมไปถึงการปลดล็อกข้อกำหนดในการห้ามใช้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการประชุมลับ และยังเพิ่มหลักการให้ผู้ร่วมประชุมสามารถที่จะลงคะแนนได้ ทั้งการลงคะแนนแบบเปิดเผย รวมไปถึงการลงคะแนนลับ การกำหนดให้ถือว่าการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกำหนดฉบับนี้ เป็นการประชุมชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายได้ โดยห้ามมิให้มีการปฏิเสธ

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะเนื่องจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พุทธศักราช 2563 เป็นเรื่องที่ใหม่ จึงอยากฝากให้มีความชัดเจนถึงแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงความปลอดภัยของข้อมูลที่ต้องไม่ให้ผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ได้

พร้อมกันหรือยังอยากเสนอให้รัฐบาลมีระบบคัดกรองผู้ให้บริการระบบการประชุม เพื่อให้ประชาชนสามารถที่จะพิจารณาเลือกใช้ผู้ให้บริการระบบการประชุมที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ และสุดท้ายยังอยากฝากในส่วนของการประชุมสภาฯ ซึ่งพระราชกำหนดนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยให้ประธานช่วยพิจารณาว่าสมควรที่จะแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาหรือไม่อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคตหากมีความจำเป็น.