นายกฯ เสนอแนวทางสำคัญ 3 ด้าน เพื่อฟื้นตัวจากวิกฤติผลกระทบโควิด-19 ต่อที่ประชุมระดับสูงขององค์การสหประชาชาติ ขอให้ร่วมกันหาแนวทางเพื่อรับมือ โดยที่จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

วันที่ 28 พ.ค. เวลา 10.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในรูปแบบวีดิทัศน์ ในกิจกรรม High-level Event on Financing for Development in the Era of COVID-19 and Beyond สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงถึงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพ วิถีชีวิต และเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหานายกรัฐมนตรีได้เสนอ 3 ประเด็น ที่สำคัญต่อการฟื้นตัวจากวิกฤติครั้งนี้

1. ความพร้อมของระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง งบประมาณด้านสาธารณสุข (health financing) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ประเทศไทยมีระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพการควบคุมการแพร่ระบาดในไทย ทั้งนี้ การพัฒนาวัคซีนและยารักษา COVID-19 ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่ทุกประเทศควรจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน

2. สภาพแวดล้อมทางการค้า และการลงทุนที่เป็นมิตร และการยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีที่เปิดกว้าง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ ไทยต้องการเห็นการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไป (restart) ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ (reboot) เพื่อฟันฝ่าวิกฤติ และปรับการเชื่อมต่อระหว่างกันใหม่ (reconnect) เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืนกว่าเดิม ในประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรีหวังให้องค์การระหว่างประเทศและสถาบันการเงินระหว่างประเทศช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยด้วย

...

3. การวางแผนเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน รองรับความ “ปกติใหม่” คือ เรื่องของการดูแลสภาพแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ชื่นชมความร่วมมือจากประชาชนไทย ที่ส่งผลให้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ของไทยประสบความสำเร็จ ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อวางมาตรการรับมือกับวิกฤติ และเตรียมมาตรการฟื้นฟู เพื่อความเป็นอยู่ของประชาชนในอนาคตที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งได้ย้ำความพร้อมที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการจัดการกับวิกฤติเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อฟื้นฟูความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจโลก และสร้างสังคมที่ยั่งยืนขึ้นกว่าเดิม

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีแคนาดา นายกรัฐมนตรีจาเมกา และเลขาธิการสหประชาชาติ สำหรับความคิดริเริ่มในการจัดกิจกรรมนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะร่วมกันหาแนวทางเพื่อรับมือและส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวจากวิกฤติของการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.