"หม่อมเต่า" พบ บอร์ด สปส.ขอฟังความเห็นค้าน ปรับเพิ่มเงินชดเชยว่างงาน จากร้อยละ 62 เป็นร้อยละ 75 ยัน บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ขณะตรวจศูนย์ร้องทุกข์โควิด-19 ประกันสังคม

ที่สำนักงานประกันสังคม ถนนติวานนท์ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน กล่าวหลังตรวจความพร้อมการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (โควิด-19) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ว่า ได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานที่หน่วยปฏิบัติทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ส่วนกลางตั้งอยู่ที่สำนักงานประกันสังคม จ.นนทบุรี ศูนย์ฯ จะมีหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย

โดยผู้ยื่นอุทธรณ์ต้องนำหนังสือแจ้งผลปฏิเสธการจ่ายสิทธิประโยชน์ฯ ยื่นร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. ระหว่าง 08.00-18.00 น. สำหรับผู้ยื่นขอใช้สิทธิจนถึงปัจจุบันมีจำนวน 1,090,082 ราย ตั้งแต่ 20 เม.ย.-13 พ.ค.ได้อนุมัติสั่งจ่ายไปแล้ว 776,421 ราย เป็นเงินจำนวนกว่า 4,465 ล้านบาท คาดว่า จะมีคนใช้สิทธิว่างงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก โดยยังมีลูกจ้าง 190,245 ราย ที่รอนายจ้างรับรองสิทธิฯ สำนักงานประกันสังคม ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนให้รีบดำเนินการรับรองการหยุดงานของผู้ประกันตน แต่นายจ้างบางรายได้ปิดกิจการ ติดต่อไม่ได้ จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ ออกตรวจสอบยังสถานประกอบการ รวมทั้งพยานแวดล้อม เพื่อให้สามารถจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนโดยเร็วที่สุด

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน กับคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) และคณะที่ปรึกษา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกหลังจากรับตำแหน่ง รมว.แรงงาน ผมเข้าไปทำความรู้จักกับทุกคน และได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากกรรมการทุกคน ที่มีทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และข้าราชการประจำ จากการพูดคุยมีทั้งความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน และบางประเด็นแตกต่างกัน ผมก็รับฟังทุกคน บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ส่วนที่ตนเสนอให้เพิ่มจ่ายเยียวยาจาก ร้อยละ 62 เป็น ร้อยละ 75 และการลดส่งเงินสมทบฝ่ายนายจ้างเหลือ 1% ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดแต่มีการพูดคุยว่า ถ้าดูแลผู้ประกันตน 1 ล้านคน ที่เดือดร้อนในระยะ 3 เดือน กองทุนประกันสังคม ยังมีเงินที่จะดูแลในส่วนนี้ได้อย่างสบาย ไม่ติดขัด แต่ถ้าต้องจ่ายเกิน 3 เดือน จะต้องมีการบริหารจัดการอย่างรุนแรง ส่วนเรื่องการลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้างนั้น มีการแสดงความคิดเห็นจากฝ่ายนายจ้างว่า หากสามารถลดให้เหลือร้อยละ 1 ได้ก็จะช่วยได้มาก แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ผมก็รับฟัง ไม่มีใครคาดคิดว่า จะเกิดปัญหาโควิด-19 จึงไม่มีแผนรองรับ แต่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ประกันสังคมตั้งขึ้นมากว่า 30 ปี ควรจะมีการปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์ แต่ต้องใช้เวลา ไม่ได้ทำในทันที

...