"เศรษฐพงค์" แนะ กสทช.ดำเนินโครงสร้างอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุม-มีคุณภาพ เพื่อการศึกษาทุกระดับ ชี้วิกฤติ "โควิด-19" เป็นโอกาสปรับกระบวนทัศน์ด้านการศึกษา-เพิ่มทักษะการเรียนรู้สู่โลกออนไลน์ แนะ 4 แนวทางสร้างศักยภาพการศึกษาเพื่ออนาคต
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.63 พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆอย่างในอนาคต โดยเฉพาะด้านการศึกษา ตนจึงอยากฝากไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เร่งสนับสนุนสนการดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีคุณภาพ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อการศึกษาทุกระดับ หลังจากที่พบว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดฯ ทำให้เกิดผลกระทบและการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการปรับตัวหลายด้าน เช่น การเว้นระยะห่าง การกักตัวอยู่บ้าน และพบว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้เกิด New Normal ด้านการศึกษา ที่ทำให้ภาคการศึกษาต้องทบทวนรูปแบบการเรียนการสอน จากเดิมที่ต้องสอนภายในห้องเรียน สอนผ่านตัวบุคคลากรทางการศึกษา เป็นรูปแบบการสอนด้วยระบบออนไลน์ หรือการศึกษาผ่านเทคโนโลยี เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสอันตราย แต่การปรับรูปแบบของการศึกษานั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่เตรียมพร้อมสำหรับชีวิต อาชีพใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าด้วย
"การระบาดของไวรัสโควิด เป็นโอกาสให้ภาคการศึกษาทบทวนรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ โดยใช้บทบาทของเทคโนโลยีให้ความรู้แก่เยาวชน และกำหนดวิธีเรียนรู้ของเยาวชนยุค Generation Z, Generation Alpha และเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งการส่งเสริมบทบาทของเทคโนโลยีดังกล่าว จำเป็นต้องเร่งผลักดันโครงการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อการศึกษาทุกระดับ เพราะจะเป็นสิ่งที่ยกระดับการศึกษารูปแบบใหม่ และศักยภาพของการเรียนรู้ของเยาวชนให้ทันโลกยุคใหม่ได้อย่างทันท่วงที" พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว
...
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้ภาคการศึกษาได้ปรับรูปแบบใหม่ คือ 1.ให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะความเข้าใจต่อการเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก และก้าวข้ามความแตกต่างของคน ด้วยวิธีทำงานร่วมกันทั่วโลก 2.กำหนดนิยามบทบาทของครูผู้สอนใหม่ เพราะไม่ใช่เป็นบุคคลให้ความรู้แก่ผู้เรียน แต่คือผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้ และเข้าถึงองค์ความรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ดังนั้นบทบาทของนักการศึกษา คือ มุ่งสู่การพัฒนาเยาวชนในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ต้องพิจารณา 3.การสอนทักษะชีวิต การมีความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร ทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ และการทำงานร่วมกัน ควบคู่ไปกับการเอาใจใส่และความฉลาดทางอารมณ์ คือจำเป็นสำหรับอนาคต ที่สามารถส่งเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพและทำงานข้ามกลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างกันได้ และ 4.ปลดล็อคเทคโนโลยีเพื่อส่งมอบการศึกษา เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่มี สร้างเนื้อหาสำหรับการเรียนรู้ระยะไกลสำหรับนักเรียนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะโรงเรียนระดับอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษา ให้เกิดประโยชน์ในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับนักเรียนทั่วโลก