นักวิชาการ เตือน "บิ๊กตู่" อย่าฝากความหวังแก้โควิด-19 ไว้ที่ 20 มหาเศรษฐีไทย จี้ เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หันมาใช้กฎหมายปกติ หวั่น ตัวเลขคนเครียดฆ่าตัวตายพุ่ง
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ขอให้ 20 มหาเศรษฐีไทย เร่งส่งเอกสารโครงการและข้อเสนอต่อรัฐบาล ในการช่วยกันแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ว่า จริงอยู่กลุ่มคนเหล่านี้มีบทบาทและอิทธิพลทางเศรษฐกิจในประเทศ แต่รัฐบาลจะหวังพึ่งเพียงคนกลุ่มนี้ไม่ได้จะต้องฟังเสียงทุกกลุ่มอย่างรอบด้าน ทั้งจากประชาชนและภาคประชาสังคม การนำเเนวทางของกลุ่มมหาเศรษฐีมาปฏิบัติ ก็จะต้องทำอย่างโปร่งใส ก่อนหน้านี้เมื่อมีการแถลงของนายกฯ เรื่องการที่จะให้บรรดากลุ่มทุนเศรษฐีได้ร่วมเเสดงความเห็น จนกระทั่งมีจดหมายออกมาชัดเจน ทุกคนมีคำถามเรื่องดีลต่างๆ เพราะเรื่องของทุนกับการเมืองเป็นสิ่งที่เเยกกันไม่ออก กระบวนการทำงานหลังจากนี้ต้องตรวจสอบได้ เปิดเผยให้สังคมได้เห็นคือมีธรรมาภิบาลทางการเมือง จะต้องชี้เเจงข้อวิจารณ์เรื่องผลประโยชน์ต่างตอบเเทนให้ได้ และจะไปฝากความหวังไว้กับกลุ่มทุนเหล่านี้ไม่ได้ กลุ่มทุนเหล่านี้เขาก็เป็นผู้สนับสนุนได้ แต่จะมาให้เขาเป็นตัวกำหนดนโยบายเลยคงไม่ได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่รู้จะมีรัฐบาลไว้ทำไม
นายยุทธพร กล่าวถึงผลสำรวจเรื่องตัวเลข การฆ่าตัวตายจากความเครียด ระหว่างการระบาดของโควิด ว่า วันนี้เราต้องรักษาคนไม่ได้รักษาโรค การหยุดสถานประกอบการ หยุดกิจกรรมบางอย่างในสังคม ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของคน วันนี้เราจะต้องรักษาคนด้วย ไม่ใช่เเค่รักษาโรค อะไรที่ผ่อนคลายได้ต้องเริ่มผ่อนคลาย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ รัฐบาลพยายามใช้กฎหมายเเล้วเอารัฐเป็นตัวตั้ง เอาเรื่องสาธารณสุขมาสร้างความชอบธรรม ใช้กฎหมายนำวิถีชีวิตของคน อาจจะเหมาะในช่วงต้นที่โรคระบาดมาก แต่เมื่อลดลงก็ต้องปรับเปลี่ยน
...
เมื่อถามว่า ถ้ารัฐบาลยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการ จะทำให้ความเครียดของประชาชนสะสมจนตัวเลขคนฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกหรือไม่นั้น นายยุทธพร กล่าวว่า ก็มีโอกาส เพราะก่อนหน้านี้จะเห็นว่า คนฆ่าตัวตายเพราะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจก่อนที่จะมีการระบาดโควิด เราก็เริ่มเห็นแล้ว พอมีโควิด ปัญหาเศรษฐกิจก็รุมมาอีก ประกอบกับปัญหาทางสังคม ทำให้เกิดภาวะการฆ่าตัวตายมากขึ้น ถามว่า รัฐบาลจะแก้ตรงไหนก่อนนั้น ตนคิดว่า ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อน แล้วกลับมาใช้กฎหมายปกติ เช่น เรื่องกฎหมายโรคติดต่อหรือแม้แต่การมีมาตรการผ่อนคลายให้กับประชาชนบ้าง และต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือว่าต้องมองไปช่วงหลังวิกฤติโควิดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด เพราะการเยียวยาจากรัฐบาลต่างๆ ที่มีผลแค่เพียงระยะสั้น เป็นต้น