ถึงแม้โฆษกรัฐบาลและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายจะยืนยันว่าจดหมายเปิดผนึกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึง 20 มหาเศรษฐีจะไม่ขอให้ช่วยเหลือด้านการเงินเด็ดขาด ยืนยันหนักแน่นว่าสิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องการคือการรับฟังความคิดเห็นอันหลักแหลมและมีวิสัยทัศน์ แต่ก็หนีปัญหาเรื่องเงินไม่พ้น

ข้อความบางตอนของจดหมายระบุว่า ไม่ขอรับเป็นเงินบริจาค “แต่ผมขอให้ท่านลงมือทำโครงการที่จะช่วยเหลือประชาชนคนไทยทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการบรรเทาทุกข์ร้อนของประชาชนทางด้านไหนก็ตาม ขอให้เป็นการช่วยเหลือประชาชนโดยตรงอย่างเป็นรูปธรรม” จดหมายนี้ได้รับการตอบสนองจากหลายมหาเศรษฐี

มหาเศรษฐีท่านหนึ่งที่ตอบสนองคำขอร้องของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ มหาเศรษฐีอันดับที่ 11 ของประเทศไทย ประกาศว่าจะช่วยเหลือประชาชนด้วยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดสุโขทัย ในวงเงิน 100 ล้านบาท เมื่อเป็น “โครงการ” ก็ต้องใช้เงิน ไม่ใช่ให้แค่คิด แต่ต้องทำให้เป็นรูปธรรม

มหาเศรษฐีอีกท่านหนึ่ง คือนายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล ประกาศว่า บริษัทเตรียมช่วยเหลือประชาชน โดยจัดทำถุงยังชีพอาหารแห้ง และจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลในจังหวัดสุโขทัย 2 แห่ง แห่งละ 50 ล้านบาท ขณะที่บริษัทศรีสวัสดิ์ประกาศจะช่วยแก้หนี้นอกระบบทั่วประเทศ

ส่วนเครือยักษ์ใหญ่ซีพี แม้จะลงทุนสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยให้แก่วงการแพทย์และประชาชนไปแล้ว 100 ล้านบาท แต่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือซีพี ยังเสนอแผนดิจิทัลเพื่อปฏิรูปประเทศ คนไทยจะต้องติดตามกันต่อไป จะมีมหาเศรษฐีรายใดเสนอแผนการลดความเหลื่อมลํ้าในสังคมไทยหรือไม่

...

อาจมีคำถามว่า ความเหลื่อมลํ้า เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาโควิด-19 คำตอบก็คือ เกี่ยวข้องชัดแจ้ง เพราะความเหลื่อมลํ้าในสังคมไทยที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกแท้ๆ จึงทำให้การแจกเงินเยียวยาประชาชนคนละ 5 พันบาทต่อเดือน เกิดความสับสน รัฐบาลตั้งต้นจะแจกแค่ 3 ล้านคน ต้องเพิ่มเป็น 9 ล้านคน แต่มีผู้ลงทะเบียนเกือบ 29 ล้าน

ภาพสะท้อนความเหลื่อมลํ้าในสังคมไทย เห็นได้จากคนเกือบ 30 ล้าน ไม่มีหลักประกันรายได้ อาจต้องตกงานถึงสิบล้านคน ผู้คนเป็นอันมากไม่อาจหาเช้ากินคํ่า จึงอยู่ในสภาพหิวโหย ถ้าหากสามารถร้องขอมหาเศรษฐีได้เหมือนกับนายกรัฐมนตรี คนไทยอยากขอให้ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมลํ้า และขอให้คนไทยมีงานทำกันโดยถ้วนหน้า.