“เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป. ชี้ ส.ส.-ส.ว.บริจาคเงินสู้โควิด-19 อยู่ที่สำนึก แนะ รัฐใช้เครือข่าย ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ดูแล ประชาชนทั่วประเทศ ลั่น ใครไม่ทำสอบตก

วันที่ 9 เม.ย. นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสการเรียกร้องให้ ส.ส.และ ส.ว.บริจาคเงินเดือนเพื่อตั้งเป็นกองทุนสู้กับไวรัสโควิด-19 ว่า ในส่วนของ ส.ส. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ระบุแล้วว่า สภาฯ ยังไม่มีความคิดเรื่องการหักเงินเดือนของ ส.ส. เพราะ ส.ส.ดูแลประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งต่างกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้ขอความร่วมมือให้สมาชิกวุฒิสภา บริจาคเงินเดือนคนละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท เข้ากองทุน ซึ่งทั้ง ส.ส.และ ส.ว.มีบริบททางการเมืองที่แตกต่างกันใน 3 ข้อ คือ 1.เรื่องที่มา ส.ว. มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ไม่มีพื้นที่รับผิดชอบ ต่างกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีพื้นที่รับผิดชอบ คือ เขตเลือกตั้งของตนเอง 2. ส.ว.มีบทบาททางการเมืองแค่เป็นสภาพี่เลี้ยงให้รัฐบาล แต่ ส.ส.มีบทบาทในฐานะตัวแทนของประชาชน ต้องทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับประชาชนโดยตรง 3.เรื่องหน้าที่ ส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น ส่วน ส.ส.มีหน้าที่ออกกฏหมาย และควบคุม ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ซึ่งส่วนตัวยินดีที่จะบริจาคเงินเดือนเข้ากองทุนสู้ไวรัสโควิด-19 และเป็นสิทธิ์ของ ส.ส.แต่ละคน ว่า จะบริจาคเงินเดือนตลอดอายุของสภาฯ หรือ จะบริจาคเงินเดือนตลอดช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ จะบริจาคจำนวนกี่เดือน ก็สามารถทำได้ตามจิตศรัทธา แต่อย่ากดดันเพื่อน ส.ส.คนอื่นๆ เพราะ ส.ส.แต่ละคนมีรูปแบบและวิธีการบริจาคในการช่วยเหลือประชาชนที่แตกต่างกัน

...

“ในความเป็นจริง ส.ส.ทุกคน ต่างก็มีความรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งของตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส.ส.คนใดไม่สนใจในการช่วยเหลือประชาชน ก็สุ่มเสี่ยงกับการสอบตกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงต้องทำให้มีการร่วมกันยับยั้ง ต่อต้านการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กับประชาชนในพื้นที่โดยปริยาย ต้องยอมรับความจริงว่า มี ส.ส.บางคนเสียค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชนมากกว่าเงินเดือนของ ส.ส.ที่ได้รับจากสภาฯด้วยซ้ำไป ส่วนตัวใช้เงินเดือนในเดือนมีนาคม ซื้อหน้ากากอนามัย และเงินเดือนในเดือนเมษายน ซื้อ สเปรย์แอลกอฮอล์ 75% เพื่อแจกประชาชนในพื้นที่ และจะทำแบบนี้ต่อไปจนกว่าจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ส่วนการตั้งกองทุนเพื่อสู้กับไวรัสโควิด-19 อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติว่า จะมีวิธีใช้เงินกองทุนอย่างไรให้กระจายไปได้ในทุกพื้นที่ ถึงมือประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งแตกต่างกับการทำหน้าที่ของ ส.ส. ทั้ง 500 คน ที่มีพื้นที่ความรับผิดชอบชัดเจน ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญและสนับสนุนบทบาทของ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน และทำงานใกล้ชิดกับประชาชน มีเครือข่ายเต็มพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลน่าจะใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติในการช่วยเหลือประชาชนร่วมกับฝ่ายรัฐบาล จะทำให้ประสบผลสำเร็จได้มากกว่า” นายเทพไท กล่าว