เช้าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เรียกประชุม ครม.นัดพิเศษเต็มคณะ แบบเห็นหน้าเห็นตากันที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเรื่อง งบประมาณแก้ปัญหาวิกฤติไวรัสและเศรษฐกิจที่อาจจะไม่พอ และฟังรายงานรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่ทำงานไร้บูรณากา ทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้น ขณะที่ งบกลาง 518,000 ล้านบาท เป็นงบสำรองฉุกเฉิน 96,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ ผอ.งบประมาณ บอกว่าเหลือเงินแค่ 2,000 ล้านบาท เพราะรัฐบาลเอาไปจ่ายเยียวยาคนตกงาน 3 ล้านคน 45,000 ล้านบาท จ่าย 5,000 บาท 3 เดือน ตกคนละ 15,000 บาท

ล่าสุด มีผู้ลงทะเบียนกว่า 21 ล้านคน รัฐบาลเลยตัดสินใจเพิ่มจาก 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน ต้องหาเงินมาแจกเพิ่มอีก 90,000 ล้านบาท รวมเป็น 135,000 ล้านบาท ยังไม่นับการจ่ายชดเชยให้ผู้ตกงานที่มีประกันสังคมอีกหลายล้านคน

การขอเจียดงบประมาณกระทรวงละ 10% จากงบประมาณปี 63 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท อย่างมากก็ได้เงิน 300,000 ล้านบาท ถ้าออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินอีก 200,000 ล้านบาท ก็ได้เงินเพียง 500,000 ล้านบาท ไม่พอใช้อย่างแน่นอน ยังต้องมีงบฉุกเฉินสำหรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 อีก ส่วนที่ต้องใช้เงินมากที่สุดก็คือ การฟื้นฟูธุรกิจที่ต้องปิดกิจการและปิดกิจการชั่วคราวจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งได้รับผลกระทบทุกกิจการ ตั้งแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ลงไปจนถึงหาบเร่แผงลอย

คุณดอน นาครทรรพ ผอ.ฝ่ายอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค แบงก์ชาติ เปิดเผยว่า แบงก์ชาติปรับลดจีดีพีปี 63 ลงไปติดลบที่ -5.3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2% ติดลบไปถึง 7.3% ก็เนื่องจาก เศรษฐกิจจะหดตัวทุกไตรมาส เดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มเห็นผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ไตรมาส 2 จะหดตัวลึกที่สุด จากนั้นจะหดตัวน้อยลงตามลำดับในไตรมาส 3/4 หากผลิตวัคซีนได้ในปีนี้ และสามารถควบคุมการระบาดได้ จะเห็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจไทยจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เป็นบวกได้ในปี 2564

...

การฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องใช้เงินมากมายขนาดไหน แบงก์ชาติไม่ได้บอก แต่ผมประเมินจากขนาดเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คงต้องใช้เงินฟื้นฟูไม่น้อยกว่า 1-2 ล้านล้านบาทขึ้นไปแน่นอน เพราะ ธุรกิจในประเทศ การบริโภคในประเทศ การส่งออกที่มีสัดส่วน 70% ของจีดีพี ล้วนได้รับผลกระทบเสียหายอย่างรุนแรง โดยเฉพาะ ธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศ ต้องมาเริ่มต้นสตาร์ตกันใหม่หมด เหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่

วันนี้ผมจะพาไปดู ตัวอย่างการกอบกู้เศรษฐกิจ ต้องใช้เงินมหาศาลขนาดไหน เริ่มจากสหรัฐฯ ที่กำลังเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก จน ประธานาธิบดีทรัมป์ แถลงที่ทำเนียบขาววันอังคารว่า สองสัปดาห์นี้สหรัฐฯจะแย่เหมือนอยู่ในนรก จะมีคนตายจำนวนมากจากศัตรูที่มองไม่เห็น ซึ่ง ทำเนียบขาว ได้แถลงคาดการณ์เป็นทางการว่า จะมีชาวอเมริกันเสียชีวิตระหว่าง 100,000-240,000 คน เป็นตัวเลขที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว

งบก๊อกแรกที่ผ่านสภาคองเกรส เพื่อเยียวยาประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ 72.6 ล้านล้านบาท 500,000 ล้านดอลลาร์ ช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมต่างๆ 290,000 ล้านดอลลาร์ จ่ายตรงช่วยเหลือชาวอเมริกันหลายล้านครอบครัว 350,000 ล้านดอลลาร์ ช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี 250,000 ล้านดอลลาร์ ช่วยเหลือคนว่างงาน 100,000 ล้านดอลลาร์ มอบให้โรงพยาบาลและระบบที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ผู้นำสหรัฐฯ ยังมี ก๊อกสองอีก 2 ล้านล้านดอลลาร์ 66 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างงานด้วยการก่อสร้างถนนหนทางสาธารณูปโภค มาตรการทุกอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ไม่ใช่คิดเป็นรายวัน วันนี้จะแจกเงิน 3 ล้านคน พอมีคนสมัครเยอะก็แจกเพิ่มเป็น 9 ล้านคน แล้วก็ไม่รู้จะไปหาเงินมาจากไหน

รัฐบาล นายกฯชินโซะ อาเบะ ญี่ปุ่น ก็จะอัดฉีดเงิน 10% ของจีดีพี 515,000 ล้านดอลลาร์ ฟื้นเศรษฐกิจในเดือนเมษายนนี้เช่นกัน ผมยกตัวอย่างให้ดูเพื่อจะบอกรัฐบาลว่า การแก้ปัญหาวิกฤติต้องทำเป็นระบบ ไม่งั้นจะแก้ปัญหาไม่ได้ แถมเพิ่มปัญหาไม่รู้จบ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”