รัฐบาลนายกฯลุงตู่ ผ่าทางตันปัญหาการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (บีอีเอ็ม) ที่มีคดีฟ้องกันนุงนังพันเตถึง 17 คดี ให้จบลงอย่างสดชื่นรื่นเริงสบายใจ

โดยที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน 2 เส้นทางยืดออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน

แลกเปลี่ยนการยุติคดีฟ้องร้องค่าเสียหายที่ยืดเยื้อมาถึง 20 ปี

เคลียร์ม้วนเดียวจบร้อยเปอร์เซ็นต์

“แม่ลูกจันทร์” สรุปย่อๆว่ามติ ครม.ข้างต้น ส่งผลดี 2 เด้งให้บริษัทบีอีเอ็ม ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานทางด่วนศรีรัช ช่วงรัชดา-พระรามเก้า ช่วงพญาไท-บางโคล่ และช่วงรัชดา-แจ้งวัฒนะ จะได้ต่ออายุสัมปทานอัตโนมัติไปถึงสิ้นเดือนตุลาคม ปี 2578 โน่นเลย

เช่นเดียวกับทางด่วนสายปากเกร็ด-บางปะอิน ซึ่งบริษัทบีอีเอ็มยังเหลือสัญญาสัมปทานอีก 6 ปี จะได้ต่ออายุสัมปทานยาวเฟื้อยไปถึงสิ้นเดือนตุลาคม ปี 2578 พร้อมกัน

รับส้มหล่นอีก 15 ปี ไม่ต้องประมูลใหม่ และไม่ต้องควักกระเป๋าลงทุนเพิ่มให้อึดอัดหาวเรอ

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าเหตุที่ ครม.นายกฯลุงตู่ เร่งรีบอนุมัติขยายอายุสัมปทานทางด่วน 2 เส้นสำคัญออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน

เนื่องจากบริษัทบีอีเอ็มจะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 28 เดือนนี้

ทางด่วนศรีรัชจะต้องโอนให้เป็นทรัพย์สินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม

ปัญหาฟ้องร้องค่าเสียหายที่คาราคาซังอยู่จะยุ่งเป็นฝอยขัดหม้อยิ่งกว่าเดิม

จะเพิ่มภาระหนักให้รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยริดสีดวงบานเป็นกลีบมะไฟ

และเงินค่าโง่ที่รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยให้เอกชนก็เป็นเงินภาษีประชาชนทุกบาททุกสตางค์

การที่รัฐบาลลุงตู่ตัดสินใจขยายสัมปทานทางด่วนให้บริษัทบีอีเอ็ม จึงเป็นการตัดไฟต้นลม ยุติปัญหาค่าโง่ไม่ให้ลุกลามบานปลาย

...

“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่านายกฯลุงตู่ ประเมินแล้วว่ายอมต่ออายุสัมปทานเพิ่มอีก 15 ปี 8 เดือน เสียหายน้อยกว่ารัฐบาลต้องจ่ายค่าโง่ 1.3 แสนล้านบาท เพราะแพ้คดีฟ้องร้องศาลปกครอง

ยิ่งถ้าสู้คดีกันยาวๆ ดอกเบี้ยค่าโง่ก็ยิ่งบาน

การที่บริษัทบีอีเอ็มยอมเกี้ยเซียะลดค่าโง่จาก 1.3 แสนล้านบาท เหลือ 7.8 หมื่นล้านบาท แลกกับรัฐบาลขยายสัมปทานทางด่วนอีก 15 ปี 8 เดือน

ถือเป็นข้อตกลงที่สมน้ำสมเนื้อกันดี

แต่ “แม่ลูกจันทร์” ยังมีข้อสังเกตฝากให้พิจารณา...

คือสัญญาสัมปทานที่รัฐบาล หรือหน่วยราชการทำข้อตกลงกับเอกชน

ผู้ร่างสัญญาก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่ฝ่ายเอกชนร่างสัญญาได้เองตามอำเภอใจ

แต่เหตุใดสัญญาสัมปทานจึงมีช่องโหว่ ทำให้ฝ่ายราชการเสียเปรียบฝ่ายเอกชนตะพึดตะพือ

เมื่อมีคดีถึงศาลปกครอง บริษัทเอกชนจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ฝ่ายราชการจะเป็นฝ่ายแพ้คดียันเต

ถ้าหากสัญญาสัมปทานมีความละเอียดรอบคอบรัดกุม ปัญหาค่าโง่ (โง่แล้วโง่อีก) จะไม่เกิดขึ้นซ้ำซากอย่างแน่นอน

ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องสังคายนาปัญหาค่าโง่อย่างจริงจัง

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดค่าโง่ซ้ำซากอย่างที่ผ่านมา

ขอร้องเถอะ...ต้องหยุดค่าโง่กันซะที.

“แม่ลูกจันทร์”