"ศักดิ์สยาม" รมว.คมนาคม สั่งเกาะติดข้อพิพาทตะวันออกกลางใกล้ชิด หวั่นกระทบราคาน้ำมันขนส่ง ด้านรถไฟไทย ตั้งวอร์รูมสแกนพิพาท "สหรัฐฯ-อิหร่าน" หวั่น ทำต้นทุนน้ำมันพุ่ง

วันที่ 6 ม.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปติดตามผลกระทบข้อพิพาทในตะวันออกกลาง และราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด อีกทั้งให้ประเมินสถานการณ์ รวมทั้งให้วางแผนรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและ ผลกระทบในทุกมิติ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นให้หน่วยที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเส้นทางบิน ที่สุ่มเสี่ยงพื้นที่ข้อพิพาท และผู้โดยสารคนไทยที่อาศัยในเส้นทางบินที่เสี่ยงต่อผลกระทบข้อพิพาท และรายงานกลับมายังกระทรวงคมนาคมรับทราบต่อไป
รถไฟไทยตั้งวอร์รูมสแกนพิพาท "สหรัฐฯ-อิหร่าน" หวั่น ทำต้นทุนน้ำมันพุ่ง

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เผยถึงมาตรการรองรับกรณีความขัดแย้งของตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในระบบการขนส่งว่า เบื้องต้นคงต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อติดตามกรณีดังกล่าว ว่า จะได้รับผลดี เสีย อย่างไร น้อมรับว่าในเรื่องนี้ทาง รฟท. ไม่นิ่งนอนใจ เพราะต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อลิตรนั่นหมายถึงว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในปัจจุบันรถไฟใช้น้ำมันเฉลี่ยต่อปีที่ 100 ล้านลิตร หากน้ำมันขึ้นลิตรละ 1 บาท นั่นหมายความว่าต้นทุนต่อปีจะต้องเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านบาท ทันที ดังนั้นทางรถไฟจะมีการควบคุมต้นทุนการบริการจัดการภายในลดลงเข้น งดใช้กระดาษ และลดในเรื่องของค่าใช้จ่าย การรั่วไหลของการใช้น้ำมัน ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น นอกจากนั้น ในส่วนของการเปิดสตาร์ตรถไฟ ได้สั่งการให้อย่าเปิดสตาร์ตทิ้งไว้ เป็นต้น

...

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้การบินไทย ประเมินว่า ราคาน้ำมันจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก แต่เมื่อเกิดความตึงเครียดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน ก็ส่งผลให้การบินไทยต้องกลับมาทบทวนตัวเลขใหม่ทั้งหมด ในระยะนี้ การบินไทยคงต้องจับตาดูสถานการณ์ความขัดแย้งและติดตามราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามสถานการณ์ในอุตสาหกรรมการบินและการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ส่วนบริษัทจะเพิ่มสัดส่วนการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันหรือไม่นั้น ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า น้ำมันถือเป็นต้นทุนหลักของ บขส. และบริษัทมียอดใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 20 ล้านลิตรต่อปี โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 26-27 บาทต่อลิตร ส่งผลให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดอัตราค่าโดยสารรถโดยสาร (รถทัวร์) ไว้ในขั้นที่ 5

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐอเมริกาและอิหร่าน บขส. ก็ต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า จะเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด โดยราคาน้ำมันพุ่งทะลุ ระดับ 30 บาทต่อลิตร ก็ต้องรอนโยบายจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ว่า จะให้ปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารหรือไม่ ถ้าหากไม่ให้ปรับ บขส. ก็คงต้องบริหารต้นทุนด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ลดเที่ยววิ่ง แต่ที่สำคัญ คือ ต้องไม่กระทบต่อความสะดวกสบายของประชาชน

นอกจากนี้ บขส. อยู่ระหว่างทดลองใช้น้ำมันดีเซล ที่มีส่วนผสมของไบโอเซล 20% (B20) โดยหากรถรุ่นใด สามารถเปลี่ยนมาใช้ดีเซล B20 ได้และไม่มีปัญหาทางเทคนิค ก็จะดำเนินการ เพราะมีต้นทุนต่ำกว่าดีเซลปกติ ประมาณ 2-3 บาทต่อลิตร ช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว