การเมืองไทยปี 63 ยังไม่รู้จะออกหัว ออกก้อย แต่มีเค้าลางไปสู่ความขัดแย้ง ระหว่าง 2 ฝ่ายที่มีแนวคิดต่างกันเพียงแต่ลึกซึ้งกว่า ลุ่มลึกกว่ามีเป้าหมายที่ชัดเจนและมุ่งไปสู่ผลสำเร็จที่แน่วแน่

ข่าว “เขย่าขวด” สุดสัปดาห์นี้เริ่มต้นปีใหม่ไม่ต่างไปกับการปล่อยตัวจากจุดสตาร์ตไปสู่ความเป็นจริงทั้งระบบ

หยุดยาว 5 วันจึงเป็นเพียงแค่กลับไปสงบจิตสงบใจเพื่อเผชิญกับสิ่งที่รออยู่ข้างหน้าไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

ไม่ต่างไปจากวัฏจักรที่หมุนเป็นวงรอบ

สังคมต่างตั้งคำถามถึงความเป็นไปข้างหน้าในปี 2563

“เศรษฐกิจ” ของประเทศจะดีขึ้นหรือไม่?

“การเมือง” จะราบรื่นหรือไม่หรือจะไปสู่ท้องถนน

“สังคม” จะหัวร้อนท่ามกลางความไม่ปลอดภัยในชีวิตหรือไม่?

แน่นอนว่าเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคนที่มิอาจหลีกหนีไปจากวังวนที่เกิดขึ้นได้

อยู่ที่ว่าจะไปในมุมดีหรือมุมร้ายเท่านั้น!

ยังไม่ทันคลายหนาวก็เห็นแล้วว่าการเมืองนั้นร้อนผ่าวขึ้นเป็นลำดับอยู่ว่าจะเดินไปสู่จุดไหนใช้เวลาเท่าใด

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าในช่วงปลายปีด้วยกลวิธีใดก็ตามสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เพิ่มขึ้นจนดูท่าว่าจะไม่อินังขังขอบกับเสียงปริ่มน้ำแล้ว

“พลังประชารัฐ” ก็มีการปรับองคาพยพภายในเพื่อสร้าง “เอกภาพ” และกุมสภาพการเมืองในฐานะแกนนำของรัฐบาล

ปี 63 นั้น รัฐบาลรู้ดีว่าต้องเจอศึกหนักพลาดไม่ได้

แน่นอนว่าในเรื่องสภานั้นคงไม่เป็นปัญหาเท่าใดนัก แต่ “นอกสภา” นั่นแหละคือประเด็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลและการเรียกร้องในปัญหาต่างๆ

...

ที่เจาะลึกลงไปคือการเมืองกับเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก หากแก้ไม่ได้กระตุ้นเข้าเป้าหรือไม่

หากจัดการได้ดีถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง

ตรงกันข้ามหากแก้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายถนนทุกสายก็จะพุ่งเข้าใส่ เพราะเป็นเหตุผลและความชอบธรรมที่ปฏิเสธได้ยาก

แรงจูงใจต่อการ “ลงถนน” ที่อนาคตใหม่เชิญชวนก็น่าจะง่ายเข้า

ว่าไปแล้วขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลในการบริหารจัดการทั้งระบบที่จะสร้างความพึงพอใจต่อประชาชน

พูดง่ายๆก็คือแรงหนุนจากประชาชนนั่นแหละคือตัวชี้ขาด

เป็นเรื่องที่คาดการณ์ยากเหมือนกัน?

ที่สำคัญกว่านั้นฝ่ายรัฐบาลจะต้องไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ หรือไปพลาดท่าเสียทีในบางเรื่องบางราวซ้ำเติมเข้าไปอีก ก็ถือว่าซวยที่ช่วยไม่ได้

หากต้องเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การปรับ ครม.เพื่อขยับปรับเปลี่ยนให้ภาพรัฐบาลดีขึ้น แต่ระวังอาการกระเพื่อมจะเกิดขึ้น

อีกทางคือการ “ยุบสภา” ซึ่งเป็นไปในแนวทางของระบบ แต่มั่นใจได้หรือไม่ ว่าจะได้กลับมาอีกก็ไม่ใช่ง่ายเหมือนกัน

เว้นแต่หนทาง “ลาออก” ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว!

การเมือง ณ วันนี้นั้นต้องยอมรับว่า รัฐบาลมีกองหนุนสำคัญก็คือ “กองทัพ” ซึ่งเป็นหลักประกันในอำนาจที่ปฏิเสธได้ยาก

การที่ “อนาคตใหม่” ทะลุทะลวงไปในจุดนี้เนื่องจากไม่ต้องการให้ “กองทัพ” เข้ามายุ่งกับการเมืองอย่างปัจจุบัน

นี่ก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง...ที่จะทำให้การเมืองเกิดแรงเสียดทานสูง!!!

“ลิขิต จงสกุล”