เหลือมีอะไรอีก...ที่ความแข็งแกร่งของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนจากการประชุมอาเซียน ซัมมิต ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพนั้นแสดงตัวตนให้เห็นอย่างชัดเจน

การที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่เดินทางมาร่วมประชุมครั้งนี้ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ระดับล่างมาแทนนั้น ทำให้สหรัฐฯเสียฐานะความเป็นหนึ่งลงไปไม่น้อย

เพราะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกันเมื่อไม่มาเอง อย่างน้อยก็ต้องส่งรองประธานาธิบดี หรือรัฐมนตรีมากบารมีกว่านี้

เป็นเหตุให้ผู้นำอาเซียน 7 ประเทศ เมื่อมีการประชุมร่วมกับสหรัฐฯ

เหลือแค่ผู้นำไทย เวียดนามและลาวเท่านั้น ในฐานะเป็นประธานอาเซียน เวียดนามซึ่งจะเป็นประธานในครั้งต่อไป ลาวในฐานะเลขาธิการและผู้ประสานงาน

แน่นอนว่า “ทรัมป์” ย่อมรู้สึกเสียหน้าเป็นอย่างยิ่ง หมายถึงถูกตบหน้าอย่างจังต้องออกปากเชิญชวนให้ผู้นำอาเซียนไปประชุมที่สหรัฐฯแทน

ยังอ้างด้วยว่าอาเซียนกำลังถูกครอบงำจากจีนในทุกด้าน โดยเฉพาะจากปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่

เมื่อผู้นำสหรัฐฯไม่มาเองก็เข้าทางจีนทันที เพราะสามารถเจรจากับผู้นำอาเซียนได้อย่างดีด้วยบท “พี่ใหญ่” ที่พร้อมสนับสนุนอาเซียนในทุกมิติ

แม้จะมีการกล่าวถึงเหตุที่ “ทรัมป์” ไม่มาเองนั้น ก็เพราะเกิดปัญหาการเมืองที่สหรัฐฯด้วยการถูกอิมพีชเมนต์อยู่ การเตรียมการเลือกตั้งจึงไม่อยากให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เสียคะแนนได้

สหรัฐฯนั้นรู้แก่ใจดีว่ามีปัญหากับหลายชาติอาเซียนที่ไม่พอใจกับนโยบายหลายเรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่เป็นมิตรเท่าใดนัก

แม้แต่ไทยที่กำลังถูกสหรัฐฯสั่งถอนจีเอสพี ซึ่งประเด็นนี้สังเกตให้ดีว่ารัฐมนตรีพาณิชย์มาถึงก็ออกปากทันทีว่าพร้อมที่จะทบทวน เหมือนตีหัวแล้วลูบหลัง

...

อีกบทเรียนหนึ่งของสหรัฐฯที่อย่าคิดว่าประเทศไหนก็ต้องลงให้

อีกประเด็นที่สะท้อนความก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อชาติสมาชิกอาเซียน 10 ชาติ และภาคี 6 ชาติ สามารถมีข้อตกลงก่อตั้งเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เรียกกันง่ายๆสั้นๆว่า “อาร์เซ็ป” ที่เจรจากันมา 7 ปี แต่มาสำเร็จที่กรุงเทพฯ

นอกจากสมาชิกอาเซียน 10 ชาติ แล้วอีก 6 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์...เอาแค่พลเมืองรวมกันก็เหนือกว่ามากแล้ว

สัดส่วนของจีดีพีและผลผลิตมวลรวมทั้ง 116 ประเทศ เท่ากับ 1 ใน 3 ของโลก มูลค่าการค้าเกือบ 30% ของโลก

นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สหรัฐฯ อียู ไม่ค่อยชอบใจนัก คิดว่าตั้งขึ้นมาเพื่อสู้กันโดยตรง โดยมีจีนเป็นหัวเรือใหญ่

เสียดายแต่ว่าอินเดียที่เริ่มต้นมาด้วยดีกลับเปลี่ยนใจภายหลังทำให้เหลือแค่ 15 ประเทศเท่านั้น โดยจะลงนามกันที่เวียดนามต้นปี 63

แต่ยังเชื่อกันว่ากว่าจะถึงต้นปีหน้า อินเดียอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้หากมีการปรับข้อตกลงที่ทำให้อินเดียรู้สึกว่าน่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงมาก

ที่กลัวมากสุดก็คือการขาดดุลการค้าต่อชาติสมาชิก

เพราะสินค้าจากประเทศต่างๆที่ราคาไม่สูงนัก จะถูกส่งเข้าสู่อินเดียโดยไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากอินเดียไม่มีสินค้าประเภทนี้

สิ่งที่นายกฯอินเดียหวั่นใจไม่น้อยก็คือ ปัญหาการเมืองภายในที่ฝ่ายค้านไม่ต้องการให้อินเดียเข้าร่วม รวมถึงภาคธุรกิจต่างๆด้วย

แต่ถ้าไม่เข้าร่วมอินเดียก็จะเสียโอกาสเป็นอย่างมาก.

“สายล่อฟ้า”