เวทีการค้าโลกที่ไม่สามารถตั้งเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ กับความผันผวนอันเกิดจากสงครามการค้าระหว่าง จีนกับสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนไปหมดเป็นรอยต่อระหว่างเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจต่างประเทศที่ต้อง บริหารจัดการให้เกิดความสมดุล และไม่ตกเป็นเหยื่อของการต่อรองระหว่างมหาอำนาจ

เศรษฐกิจในยุโรป ที่เริ่มจากการประกาศถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ ทำให้เกิดผลกระทบกับ การบริหารจัดการ รัฐบาลอังกฤษ ท้ายที่สุดมีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นว่าเล่น ซึ่งอังกฤษมีการลงมติให้กำหนดการเลือกตั้งกลางเดือน ธ.ค.นี้ ที่คนอังกฤษก็ยังแบ่งเป็น สองฝ่าย คือเห็นด้วยกับการถอนตัวเพื่อจะเอาเงินที่ไปสนับสนุนสหภาพยุโรปมาใช้จ่ายพัฒนาประเทศเพิ่มสวัสดิการให้กับคนอังกฤษ เลิกงานตอนเย็นก็มายืนถือป้ายประท้วงกันตามประสาโลกประชาธิปไตย

อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการถอนตัวเพราะเห็นปัญหาความยุ่งยากตามมาจะกระทบกับเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างรุนแรง แค่ซ้อมๆ อังกฤษก็ตกอยู่ในภาวะย่ำแย่ แล้ว แต่ไม่ว่า จะมีการเลือกตั้งใหม่ หรือเปลี่ยน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ปัญหาก็ยังเป็นปัญหาเดิมๆ คือจะถอนตัวหรือไม่ถอนตัว

อังกฤษกลายเป็นหนูทดลอง ที่ต้องรอดูผลลัพธ์สุดท้าย ประเทศในสหภาพยุโรปที่มีทีท่าว่าจะโดดออกจากสหภาพยุโรปเพราะไม่อยากอยู่ใต้พี่เบิ้มอย่าง เยอรมนี ต้องถอยไปตั้งหลัก สุดท้ายปัญหาก็มาวนที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯอยู่ดี

ถามว่า ไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษหรือไม่ คำตอบก็คือมีบ้าง จะบอกว่าไม่มีเลยคงไม่ได้ อาทิ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากปีที่แล้วคาดว่า จาก 9 แสนกว่าคนต่อปีก็จะเหลือประมาณ 7 แสนกว่าคนในปีนี้ แน่นอนว่าเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง รายได้จากการท่องเที่ยวก็ลดลงด้วย

...

จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด มีการตั้งเป้าไว้ที่ 40 ล้านคน ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางมาไทยแล้วจำนวนประมาณ 38 ล้านคน น่าจะใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ รายได้รวมก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.87 ล้านล้านบาท

อุปสรรคของการท่องเที่ยวหลักๆก็คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จากสงครามการค้าและ Brexit ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำโดย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวฯ และ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เร่งออกแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยว โรดโชว์สินค้าการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของอาหาร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เมืองรอง ความสะดวกสบายในการเดินทาง โครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้า ทางด่วนมอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพิ่มด่านตรวจคนเข้าเมืองในภูมิภาค เป็นต้น รวมทั้งกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ

กลับมามองในอาเซียน 10 ประเทศจากบวก 3 บวก 6 บวก 8 เป็นอินโด-แปซิฟิก เป็นอาเซียน-สหรัฐฯ เป็นอาเซียน-จีน เป็นอาเซียน-อินเดีย หรือรวมเป็นอาร์เซ็ป 16 ประเทศ ต้องยอมรับความจริงว่า เป็นการรวมตัวกันแบบหลวม หรือการแสวงหาผลประโยชน์ ชนิดไม่มีใครยอมเสียเปรียบ เขตการค้าเสรีอาเซียน บันทึกข้อตกลงกันมานาน แต่ในทางปฏิบัติยังไปไม่ถึงไหน เพราะฉะนั้นการรวมตัวของอาร์เซ็ป จึงเป็นเรื่องที่ยากกว่าหลายเท่า

ตราบใดที่ปลาใหญ่ยังกินปลาเล็ก.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th