"อาเซียน-อินเดีย" ร่วมผลักดันความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม ขณะ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน กล่าวขอบคุณนายกฯ อินเดีย
วันที่ 3 พ.ย. เวลา 11.15 น. ณ ห้อง Sapphire 203 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และนายกรัฐมนตรีนเรนทร โมที (His Excellency Shri Narendra Modi) ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด อาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 16 ภายหลังเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 16 จัดขึ้นเพื่อทบทวนความร่วมมือในกรอบอาเซียน-อินเดียในมิติการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรมในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางของความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียในอนาคต และเพื่อหารือ แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยมีผู้นำจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย
ในนามอาเซียน นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมอินเดียถือเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียนที่จะร่วมมือกันในการส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาค ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนสร้างความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมมาโดยตลอด อาเซียนยินดีที่นายกรัฐมนตรีอินเดียให้ความสำคัญกับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านนโยบายมุ่งตะวันออกของอินเดีย เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทำให้ยุทธศาสตร์ระหว่าง"อาเซียน-อินเดีย" มีพลวัตมากยิ่งขึ้น
ด้านความมั่นคง อาเซียนชื่นชมที่อินเดียสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนบนพื้นฐานของภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) และผ่านกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำหลากหลาย อาทิ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM plus) ซึ่งนำไปสู่การรักษาสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญก้าวหน้าในภูมิภาค ตลอดจนชื่นชมอินเดียที่ให้การสนับสนุนมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก โดยเป็นมุมมองที่ตั้งอยู่บนหลักการ 3M ได้แก่ ความเคารพซึ่งกันและกัน (Mutual Respect) ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (Mutual Respect) ผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit) และความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-อินเดียให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ตลอดจนย้ำถึงความร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้าย แนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง อาชญากรรมข้ามชาติ และความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์
...
ด้านการค้าการลงทุน เน้นย้ำความพยายามเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้บรรลุ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2022 โดยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ในการนี้ ไทยยินดีที่ได้ริเริ่มการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย (AITIGA) เพื่อทำให้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียสามารถใช้ประโยชน์ได้สะดวกและง่ายในทางปฏิบัติและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งขจัดอุปสรรคทางการค้า พร้อมเน้นย้ำความสำคัญในการบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านการสรุปการเจรจา RCEP ภายในปี 2019
ด้านวัฒนธรรม ชื่นชมกับความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การท่องเที่ยว การศึกษา การแลกเปลี่ยนนักวิชาการและเยาวชน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และไอซีที ทั้งนี้ ไทยส่งเสริมให้อาเซียนและอินเดียเพิ่มความพยายามในการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการอาเซียน-อินเดียปี ค.ศ. 2016-2020 และยินดีต่อความสำเร็จของปีความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน-อินเดีย 2019 ชื่นชมความพยายามของอินเดียในการสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชนและความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและอินเดียให้แน้นแฟ้น
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณอินเดียในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน และให้การสนับสนุนไทยและอาเซียนมาโดยตลอด โดยเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันจะพัฒนาในมิติที่หลากหลายเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองภูมิภาคร่วมกัน.