หนังสือของนายเสริมสุข โกวิทวานิช อดีตรองเลขาธิการ ก.พ. วัย 87 ปี จัดพิมพ์ขึ้นมาในชื่อ “ราชการฝ่ายบริหาร ปัญหาพื้นฐานและแนวทางแก้ไข มุมมองหนึ่งของการอภิวัฒน์ระบบราชการพลเรือน” นั้น
เป็นหนังสือที่คนเป็นข้าราชการแล้วต้องอ่านจริงอย่างที่ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทร์สมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าไว้ในคำนิยม
ขอเน้นที่เรื่องวินัยและการดำเนินการทางวินัย ที่ รองเสริมสุข ระบุสิ่งที่ควรแก้ไข เช่น
1.ขอให้ปรับปรุงคํานิยาม เรื่อง “ทุจริตต่อหน้าที่” ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน โดยการนําคํานิยาม “ทุจริตต่อหน้าที่” ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และคํานิยาม “ทุจริตต่อหน้าที่” ในพระราชบัญญัติมาตรการฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับข้าราชการพลเรือน
2.ขอให้มีคนนอกหน่วยงานมาร่วมเป็นกรรมการสอบสวนข้าราชการในหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีตัวอย่างอยู่แล้วในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
3.ในเรื่องการสอบสวนนั้น ขอให้เปลี่ยนภาระการพิสูจน์ตกเป็นของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการทางวินัยได้ผลรวดเร็วยิ่งขึ้น มีตัวอย่างอยู่แล้วในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542
4.ในกรณีที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ใดเห็นว่าการสอบสวนถูกต้องครบถ้วนแล้วก็ให้ผู้นั้นสั่งการไปได้เลย โดยไม่ต้องส่งเรื่องให้ อ.ก.พ.จังหวัด อ.ก.พ.กรม หรือ อ.ก.พ.กระทรวง แล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณาอีก ซึ่งการตัดอำนาจ
ของ อ.ก.พ.จังหวัด อ.ก.พ.กรม หรือ อ.ก.พ.กระทรวง แล้วแต่กรณี หาได้ทําให้หลักประกันความมั่นคงในอาชีพของผู้ถูกลงโทษทางวินัยหมดสิ้นไปแต่อย่างใดไม่ เพราะหลักประกันความมั่นคงในอาชีพของผู้นั้นยังมีอยู่อีก 2 ชั้น
...
5.การลงโทษทางวินัยมีหลักว่า จะลงโทษผู้กระทําความผิดทางวินัย เท่านั้น แต่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนกำหนดให้มีโทษตัดเงินเดือนและโทษลดขั้นเงินเดือนซึ่งเป็นการ “ให้โทษ” แก่ครอบครัวของผู้กระทําผิดวินัย เพราะจะได้เงินเป็นค่าใช้จ่ายน้อยลง จึงควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนให้เป็นไปตามตัวอย่างที่ปรากฏในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ.2543 นั่นก็คือ การงดเลื่อนเงินเดือน
และโดยนัยนี้ จึงควรเปลี่ยนโทษตัดเงินเดือนข้าราชการพลเรือนเป็นโทษงดเลื่อนเงินเดือน 1 ปี และเปลี่ยนโทษลดขั้นเงินเดือนเป็นโทษงดเลื่อนเงินเดือน 2 ปี หรือ 3 ปี แล้วแต่ความหนักเบาของการกระทําผิดวินัย หรือในกรณีที่ไม่เข็ดหลาบ
6.ในกรณีที่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เมื่อคดีถึงที่สุด ก็สมควรกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการของผู้กระทําผิดวินัยผู้นั้น ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ฟอกเงิน และกรมสรรพากร ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนต่อไป
แนวคิดนี้มองไกลไปถึงครอบครัวของข้าราชการอย่างน่าสรรเสริญ.
“ซี.12”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :